จากกรณีที่มีข้อความเตือนว่า กินอาหารค้างคืน ที่ถูกนำมาอุ่นซ้ำ ๆจะทำให้เป็นโรคมะเร็งนั้น ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันกับการเกิดโรคมะเร็งแต่อย่างใด ดูแล้วอันตรายที่น่าจะเกิดขึ้นได้ น่าจะมาจากวีธีการเก็บรักษาอาหารในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมมากกว่าจนทำให้มีเชื้อจุลินทรีย์เจริญเติบโตจนสร้างสารพิษขึ้นมา เมื่อทานอาหารเหล่านี้เข้าไปอาจมีผลต่อระบบขับถ่าย นอกจากนี้อาหารที่ทิ้งไว้นาน และมีการอุ่นซ้ำซากอาจทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลง รวมถึงรสชาติของอาหารเปลี่ยนไป
ส่วนอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งให้กับเราได้ ได้แก่
- เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เบคอน แฮม ฯลฯ มักจะมี “ดินประสิว” ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า “โปตัสเซียมไนเตรต” เป็นส่วนประกอบในอาหาร เพราะสารดังกล่าวนี้จะช่วยคงสภาพให้เนื้อสัตว์มีสีแดงดูน่ารับประทานได้นานกว่าปกติ และมีคุณสมบัติเป็นสารกันบูดเช่นเดียวกับสารกันบูดประเภทไนไตรต์ และโซเดียมไนเตรต ซึ่งจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่มักเกิดในอาหารที่ได้รับการบรรจุอยู่ในภาชนะที่ปิดสนิท เช่น อาหารกระป๋อง สารไนไตรท์/ไนเตรท ที่จะก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน โดยเฉพาะเพื่อนำมาประกอบอาหารที่ผ่านความร้อนสูง เช่น ปิ้ง ย่าง ก็จะยิ่งเกิดสารก่อมะเร็งสูงเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ซึ่งหากร่างกายได้รับอาหารที่มีสารกันบูดเหล่านี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในกรณีอาหารที่ได้รับการใส่สารกันบูดในปริมาณเกินกำหนดด้วยนั้น ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากขึ้นตามไปด้วย
- เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อสัตว์ใหญ่ มีความเป็นไปได้ว่าจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้บ้าง แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน จากงานวิจัยบางส่วนพบว่า ส่วนของเนื้อแดงที่ติดหนัง ติดมัน และผ่านความร้อนสูงในการปรุง เช่น ปิ้ง ย่าง อาจมีส่วนที่ทำให้เกิดมะเร็งได้
- อาหารให้พลังงานสูง ไขมันสูง (ในปริมาณไม่มาก) เช่น แป้งจากขนมปังในแฮมเบอร์เกอร์ แป้งพิซซ่า แป้งในอาหารทอดต่างๆ รวมถึงน้ำมันที่ได้จากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันแปรรูป เช่น มาการีน เนยขาว ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายผลิตคลอเรสเตอรอลมากขึ้น จนเป็นสาเหตุของภาวะหลอดเลือดตีบแล้ว ไขมันประเภทนี้ทำให้เราได้รับไขมันอิ่มตัวเยอะ อาจทำให้เสี่ยงภาวะน้ำหนักเกิน และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่ออาหารประเภทนี้ถูกนำไปปรุงในอุณหภูมิที่ร้อนจัดก็จะก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งที่มีชื่อว่าเอชซีเอ (Heterocyclic Amine – HCA)
- อาหารปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตราย ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ได้รับการแต่งสี กลิ่น รส ที่อาจเป็นอันตราย เช่น การใช้สีที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร อย่างสีย้อมผ้า หรือแม้กระทั่งการใช้สีผสมอาหารในปริมาณที่มากเกินไป รวมถึงอาหารที่อาจปนเปื้อนสารฆ่าแมลงและสารเคมีแปลกปลอมอื่น ๆ ซึ่งจะสังเกตได้จากลักษณะของอาหารที่ผิดจากธรรมชาติไปมาก เช่น มีสีฉูดฉาดจัดจ้านผิดปกติ หรือพืชผักผลไม้ที่ไม่มีร่องรอยการกัดกินจากแมลงเลย เป็นต้น
- อาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง แม้ว่าสารโซเดียมคลอไรด์ หรือที่เรารู้จักกันดีในรูปแบบของเกลือที่นิยมนำมาประกอบอาหารนั้นจะให้ไอโอดีน ซึ่งช่วยป้องกันโรคคอพอก ได้ก็ตาม แต่การบริโภคอาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูงเกินไป ซึ่งรวมถึงอาหารหมักดองด้วยเกลือ และอาหารที่ใส่ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร และหลอดอาหารได้ เพราะเมื่อร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป ก็จะส่งผลให้ปริมาณเกลือโพแทสเซียมลดลง ซึ่งจะทำให้ ภูมิต้านทานในร่างกายลดลงตามไปด้วย
- อาหารที่มีเชื้อรา เชื้อราที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุดคือ เชื้อราที่ผลิตสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในอาหารที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร เช่น เมล็ดธัญพืช อย่างถั่ว หรือข้าวโพด รวมถึงพริกแห้ง หอม กระเทียม และอาหารจำพวกนมและขนมปัง ที่ถูกเก็บไว้นานจนเกินไป โดยเฉพาะในที่ที่อากาศร้อนและมีความชื้นสูง หากรับประทานเข้าไป จะก่อให้เกิดการสะสมของสารอะฟลาท็อกซินที่ตับ และอาจพัฒนาเป็นมะเร็งตับในที่สุด
- เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สารเอทานอล ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เมื่อถูกย่อยสลายในร่างกายแล้ว จะกลายเป็นสารที่มีชื่อว่า อะเซทแอลดีไฮด์ ซึ่งมีผลทำให้เซลล์ในร่างกายอ่อนแอลง สำหรับผู้สูบบุหรี่เป็นประจำก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งช่องปาก มะเร็งตับ และมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้นตามไปด้วย
โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
บริษัท คอนวีเนียนซ์ ฮอสพิทอล จำกัด
Convenience Hospital Co., Ltd.
90/5 หมู่ 13 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 10540
โทรศัพท์ : 08-0074-8800, 02-115-2111
แฟกซ์ : 02-738-9740
แผนที่ : Google / รูปแผนที่ / เส้นทางเดินทาง
Line : @ch9airport