โรคมะเร็งหลอดอาหาร โรคพบบ่อยติดอันดับ 7 ของโลก
มะเร็งหลอดอาหารเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 7 ของโลก จัดเป็นโรคของผู้ใหญ่ เพราะส่วนใหญ่มักพบในคนช่วงอายุ 55-65 ปี สามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่มักจะพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า
แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. มะเร็งหลอดอาหารชนิด Squamous cell carcinoma เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุของหลอดอาหาร ซึ่งมักเกิดที่ส่วนบนและส่วนกลางของหลอดอาหาร
2. มะเร็งหลอดอาหารชนิด Adenocarcinoma เป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ประมาณ 50-80% ของมะเร็งหลอดอาหาร โดยเกิดจากเซลล์แกลนดูลาร์ที่อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร (ส่วนปลายของหลอดอาหาร) มักเกิดต่อเนื่องมาจากภาวะการอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหาร (Barrett’s esophagus) หรืออาจเกิดจากภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้เซลล์เยื่อบุของหลอดอาหารซึ่งปกติเป็น Squamous cells เปลี่ยนแปลงเป็น Gland cells
อาการหลักของโรคมะเร็งหลอดอาหาร คือ อาการกลืนอาหารแล้วเจ็บหรือกลืนลำบาก และมีน้ำหนักตัวลดลง ผู้ป่วยมากกว่า 90% มักมาพบแพทย์ด้วยอาการดังกล่าว
การแพร่กระจายของมะเร็งหลอดอาหาร
มะเร็งหลอดอาหารสามารถแพร่กระจายได้ 3 ลักษณะ ดังนี้
1. ลุกลามเข้าสู่อวัยวะข้างเคียงได้โดยตรงจากตัวก้อนมะเร็งที่โตขึ้น เช่น ลุกลามไปที่หลอดลมข้างเคียง
2. แพร่กระจายเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง เช่น แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง
3. แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด เช่น แพร่กระจายไปที่ปอด กระดูกสันหลัง เป็นต้น
การแบ่งระยะของโรคมีความสำคัญอย่างมากต่อการกำหนดวิธีการรักษาและการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหาร สำหรับผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารในระยะที่ 1 จะมีอัตราการมีชีวิตอยู่ 5 ปีหลังการผ่าตัดอยู่ที่ประมาณ 80-90% (การรักษาในระยะแรกเริ่มนี้จะมีเป้าหมาย คือ การควบคุมมะเร็งและยืดอายุของผู้ป่วย ) ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้าย (ระยะที่ 3 และระยะที่ 4) จะมีอัตราการมีชีวิตอยู่ 5 ปีหลังการผ่าตัดไม่ถึง 15% (การรักษาในระยะสุดท้ายจะมีเป้าหมาย คือ การควบคุมอาการ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น )
วิธีการรักษามะเร็งหลอดอาหาร
ในการรักษาจำเป็นต้องอาศัยทีมแพทย์ในสาขาต่าง ๆ มาร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวกำหนดวิธีการรักษาของแพทย์ ที่สำคัญ คือ ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะและการแพร่กระจายของโรค และปัจจัยของตัวผู้ป่วยเอง ได้แก่ อายุ สุขภาพร่างกาย และการมีโรคประจำตัวของผู้ป่วย
1. การผ่าตัดหลอดอาหาร (Esophagectomy) ทำในกรณีที่สามารถทำการผ่าตัดได้ คือผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารระยะแรก และเป็นมะเร็งที่อยู่บริเวณส่วนช่องอก หรือส่วนปลายที่อยู่ติดกับกระเพาะอาหาร แพทย์จะทำการผ่าตัดหลอดอาหารส่วนที่เป็นมะเร็งออก ร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงเพื่อตรวจดูการแพร่กระจายของมะเร็ง
กรณีที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ แพทย์อาจให้การรักษาแบบประคับประคอง (เพื่อช่วยบรรเทาอาการกลืนลำบาก ทำให้ผู้ป่วยพอจะสามารถกลืนอาหารและน้ำได้ หรือเป็นผู้ป่วยในระยะลุกลามที่ไม่สามารถกลืนอาหารทางปากได้เอง ด้วยวิธีการใส่ท่อหรือวัสดุถ่างขยายหลอดอาหารที่ตีบอยู่คาไว้ ( Esophageal stent) เพื่อให้อาหารผ่านลงไปได้
2. การฉายรังสีรักษา (Radiotherapy) เป็นการรักษาโดยการฉายรังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายหรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยตรง ซึ่งในการรักษาแพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการฉายรังสีรักษาเพียงอย่างเดียวแทนการผ่าตัด หรือใช้ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด หรือใช้ทั้งการฉายรังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัด และทำการผ่าตัดร่วมกันก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการรักษาผู้ป่วยในแต่ละราย
ซึ่งวัตถุประสงค์ของการฉายรังสีจะแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ
2.1 ใช้เพื่อควบคุมโรคในผู้ป่วยระยะลุกลามไม่มากและยังมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง (มักใช้ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ คือ การให้ยาเคมีบำบัด และ/หรือการผ่าตัด)
2.2 ใช้เพื่อประคับประคองอาการในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากมีสุขภาพไม่แข็งแรงพอ หรือมะเร็งลุกลามไปมาก หรือมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ โดยมักใช้เพื่อบรรเทาอาการจากการกลืนลำบาก กลืนเจ็บ หรืออาการปวดจากการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก (มะเร็งหลอดอาหารในระยะลุกลาม การฉายรังสีส่วนมากจะใช้เพื่อบรรเทาอาการเป็นหลัก และจะได้ผลดีมากโดยเฉพาะเมื่อมีการอุดตันของหลอดอาหาร จากการศึกษาพบว่า การฉายรังสีรักษาจะใช้เพื่อบรรเทาอาการการกีดขวางของการกลืนใน 80% ของผู้ป่วย)
3. การให้ยาเคมีบำบัด เป็นการใช้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยอาจให้ยาทางปากหรือฉีดเข้าเส้นเลือด มักใช้หลังการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำสูง และยังเป็นมาตรฐานในการใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารในระยะลุกลามด้วย และยังนิยมใช้ร่วมกับการฉายรังสีรักษาก่อนเข้ารับการผ่าตัดด้วย เพื่อเสริมประสิทธิภาพของการรักษาให้ดีขึ้น (ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากโรคได้เพิ่มมากขึ้น)
4. การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นอีกวิธีการหนึ่งของการรักษา โดยมุ่งทำลายมะเร็งด้วยยาที่ตรงกับยีนมะเร็งของผู้ป่วยโดยเฉพาะ ใช้ได้ในผู้ป่วยที่ค่อนข้างจะอ่อนแอ เพื่อลดผลข้างเคียงของยาเคมีแบบทั่วไป
ศูนย์มะเร็งตรงเป้า – โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
โทรศัพท์ : 093-328-5561
หรือ : 02-115-2111 ต่อ 1169, 1170
แผนที่ : Google / รูปแผนที่ / เส้นทางเดินทาง
Facebook : HIFUCHULARAT
Line : hifu9000