โรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆในกลุ่มมะเร็งทั้งหมดมาตั้งแต่อดีต เนื่องจาก ณ เวลาที่ค้นพบโรค ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยจะอยู่ในระยะที่ 4 หรือระยะกระจายแล้ว

ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น และ ผู้คนเริ่มดูแลเอาใจใส่ตัวเองมากขึ้น ร่วมทั้ง ระบบการวินิจฉัยที่ดีขึ้น ( Low dose CT chest screening ) ทำให้เราสามารถตรวจพบและวินิจฉัยมะเร็งปอดได้เร็วขึ้นโดยเฉพาะในระยะที่ 1 หรือ 2 ซึ่งคนไข้ในกลุ่มนี้เราสามารถได้รับการรักษาให้หายขาดด้วยการผ่าตัดส่องกล้องตัดปอดกลีบที่มีมะเร็งออกไปทั้งกลีบ (VATS Lobectomy)

วันนี้ชวนทุกคนมารู้จักระยะของมะเร็งปอดกัน

  • ระยะที่ 1 มะเร็งก้อนเล็กกว่า 3 เซนติเมตรและอยู่ในเนื้อปอดเท่านั้น : ในคนไข้กลุ่มนี้เราสามารถรักษาโดยผ่าตัดได้เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องรับเคมีบำบัดและฉายแสง โดยเฉพาะหากตรวจพบในระยะ 1a (ก้อนเล็กกว่า 1 เซนติเมตร) หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตเกิน 5 ปีหรือหายขาดได้สูงถึง 92%
  • ระยะที่ 2 มะเร็งก้อนใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร หรือ แพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองในเนื้อปอดแต่ยังไม่ผ่านขั้วปอด  : ในคนไข้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รักษาโดยการผ่าตัดเป็นหลัก และอาจจะต้องได้รับเคมีบำบัดร่วม
  • ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปอวัยวะอื่นในช่องอกหรือแพร่ผ่านต่อมน้ำเหลืองขั้วปอด : ในคนไข้กลุ่มนี้การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่เคมีบำบัดหรือภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นหลัก อาจมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดร่วมเป็นกรณีไป
  • ระยะที่ 4 มะเร็งกระจายไปอวัยวะอื่นหรือมีน้ำในช่องอกจากเชื้อมะเร็ง : ในคนไข้กลุ่มนี้จะได้รับการรักษาโดยเคมีบำบัด ยามุ่งเป้าหรือยาภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อบรรเทาอาการ การผ่าตัดอาจมีส่วนร่วมเป็นกรณี แต่ค่อนข้างน้อยลง

พยากรณ์ของโรค อัตราการรอดชีวิตมักขึ้นกับระยะของโรคมะเร็ง

  • ระยะที่ 1 70-90%
  • ระยะที่ 2 50-60%
  • ระยะที่ 3 15-30%
  • ระยะที่ 4 0-10%