ทำความรู้จัก โรคมะเร็งกล่องเสียง โรคมะเร็งที่พบมากในผู้ชาย

เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อของกล่องเสียง ซึ่งอาจจะเริ่มจากแผลเล็ก ๆ แล้วลุกลามจนเป็นก้อนเนื้อที่ประกอบไปด้วยเซลล์มะเร็ง จากก้อนเล็ก ๆ กลายเป็นก้อนใหญ่ขึ้น หรืออาจลุกลามออกนอกกล่องเสียงไปยังอวัยวะใกล้เคียง และเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นอาจมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นที่อยู่ห่างไกลกล่องเสียงออกไป เช่น สมอง ปอด กระดูก ตับ เป็นต้น มะเร็งกล่องเสียงสามารถเกิดได้กับกล่องเสียงในทุกตำแหน่ง

โดยในคนไทยจะพบมะเร็งที่กล่องเสียงส่วนที่อยู่เหนือสายเสียงมากที่สุด รองลงมา คือ กล่องเสียงส่วนสายเสียง และกล่องเสียงส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง ตามลำดับ โดยชนิดของโรคมะเร็งกล่องเสียงที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ชนิด Squamous cell carcinoma

มะเร็งกล่องเสียงเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่งของคนทั่วโลก ( พบได้ประมาณ 2-3% ของโรคมะเร็งทั้งหมด ) ถึงแม้ว่ายังไม่ติด 1 ใน 10 ของโรคมะเร็งที่พบบ่อยก็ตาม แต่ถ้านับเฉพาะโรคมะเร็งของหู คอ จมูก โรคมะเร็งกล่องเสียงก็พบได้มากเป็นอันดันที่ 3 รองจากโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกและโรคมะเร็งโพรงจมูก นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึงประมาณ 10 เท่า และพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีประวัติการสูบบุหรี่จัดมานาน (โดยเฉลี่ยอายุของผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 60-70 ปี)

แนวทางการรักษามะเร็งกล่องเสียง

  1. การผ่าตัดกล่องเสียง (Laryngectomy) การรักษาโดยการผ่าตัดเป็นวิธีทางเลือกอันดับแรกของการรักษาโรคมะเร็งกล่องเสียง หลัก ๆ แล้วจะประกอบด้วยการผ่าตัดกล่องเสียงออกบางส่วนและการผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด ซึ่งการผ่าตัดย่อมแตกต่างกันและผู้เชี่ยวชาญจะยึดตามสภาพอาการของผู้ป่วย
  2. การฉายรังสี (Radiation therapy) เป็นการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกล่องเสียงในระยะแรกเริ่ม หรือเป็นผู้ป่วยที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอและไม่เหมาะกับการผ่าตัด
  3. การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกล่องเสียงระยะลุกลามที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ มักใช้เพื่อช่วยลดอาการที่เกิดจากก้อนมะเร็งขนาดที่ใหญ่เกินกว่าการฉายรังสีเพียงอย่างเดียวจะควบคุมได้ ช่วยลดการแพร่กระจายของมะเร็งที่มีก้อนขนาดใหญ่ การใช้ร่วมกับการฉายรังสีในช่วงเวลาเดียวกันจะช่วยลดขนาดของก้อนมะเร็งให้เล็กลงกว่าการให้การรักษาเพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง และการรักษาวิธีนี้อาจช่วยให้สามารถรักษากล่องเสียงไว้ได้
  4. การใช้รังสีรักษาร่วมกับยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) วัตถุประสงค์ของการรักษาเพื่อช่วยลดขนาดของก้อนมะเร็งให้เล็กลง กว่าการให้การรักษาเพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง

 

 

ศูนย์มะเร็งตรงเป้า – โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

บริษัท คอนวีเนียนซ์ ฮอสพิทอล จำกัด
Convenience Hospital Co., Ltd.
90/5 หมู่ 13 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 10540
โทรศัพท์ : 093-328-5561
หรือ : 02-115-2111 ต่อ 1169, 1170
แผนที่ : Google / รูปแผนที่ / เส้นทางเดินทาง
Facebook : HIFUCHULARAT
Line : hifu9000
เว็บไซต์ : รพ.จุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
ไทย | ဗမာစာ