มะเร็งกระเพาะอาหาร พบมากในผู้สูงอายุ มักมาด้วยอาการปวดท้องคล้ายโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรืออาหารไม่ย่อย การวินิจฉัยคือการส่องกล้องกระเพาะอาหารร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อตรวจ ถ้าพบในระยะที่ผ่าตัดได้มีโอกาสหายขาดสูง แต่น่าเสียดายที่ผู้ป่วยหลายคนที่ได้รับการวินิจฉัยเมื่อเป็นระยะลุกลามแล้ว การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและหรือยามะเร็งมุ่งเป้า ร่วมกับการประคับประคองอาการ เป็นการรักษาหลัก

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer) มีอุบัติการณ์เป็นอันดับที่ 5 ของโรคมะเร็ง ทั้งหมด และถือเป็น สาเหตุการตายอันดับที่ 3 จากการตายจากโรคมะเร็งทั้งหมดทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 6 ในผู้ชาย และอันดับที่ 9 ในผู้หญิง โดยมีอุบัติการณ์ที่ 5 รายในประชากร 100,000 คน ถึงแม้จะพบได้ไม่บ่อย ในคนไทยแต่ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทย มักพบในระยะท้ายของโรค และมีการ พยากรณ์โรคที่ไม่ดี

มะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารมีการแบ่งจำนวนมากขึ้น อย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของกระเพาะ เมื่อมะเร็งมีขนาด ใหญ่ขึ้น จะเกิดการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และสามารถกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ลำไส้ ปอด และรังไข่ได้

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของ มะเร็งกระเพาะอาหาร

สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจาก การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารแปรรูป และอาหารปิ้งย่าง รวมถึงมีปัจจัยส่งเสริมความเสี่ยงของการเกิดโรค ดังนี้

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น เพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น
  • เพศชายมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารสูงกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า
  • ผู้มีประวัติบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • การติดเชื้อ Pyloriแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหารและสร้างภาวะอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังอาจนำไปสู่โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • ผู้ที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคโลหิตจางบางชนิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
  • การสัมผัสฝุ่น สารเคมี และสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน
  • สูบบุหรี่เป็นประจำ

อาการ

ในระยะแรกของโรคอาจไม่มีอาการแสดงที่เฉพาะและอาจมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ ได้แก่ รู้สึกอาหารไม่ย่อยหรือ รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร คลื่นไส้เล็กน้อย ไม่อยากรับประทานอาหาร มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการลุกลามขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้ รู้สึกไม่สบายท้องโดยเฉพาะช่องท้องบริเวณส่วนบนและตรงกลาง มีเลือดปนในอุจจาระ อาเจียน โดยอาจมีอาเจียนเป็นเลือดได้ ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ำ น้ำหนักตัวลดลง ปวดท้องหรืออาเจียน เป็นอาหารที่กินเข้าไป เนื่องจากมีการอุดตันของกระเพาะอาหาร กลืนติด หรือทานอาหารได้ลดลง อ่อนเพลีย

การวินิจฉัยโรค

  • การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
  • การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ถือเป็นการตรวจหลักในการวินิจฉัย ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยี การย้อมสีที่เยื่อบุและการขยายภาพ ทำให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งในระยะแรกได้
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT scan ซึ่งจะแสดงภาพอวัยวะภายเพื่อให้เห็นตำแหน่งของโรคและการกระจายของโรคได้ละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา

การรักษาของโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร

1. มะเร็งระยะเริ่มแรก (early gastric cancer) หมายถึงมะเร็งที่อยู่เฉพาะชั้นเยื่อบุส่วนบนของกระเพาะอาหาร โดยทั่วไปมักจะไม่มีอาการ แต่ตรวจพบจากการทำการตรวจส่องกล้องสำหรับการตรวจสุขภาพ

การรักษาสามารถทำการรักษาด้วยการตัดผ่านกล้องส่องตรวจทางเดินอาหารเพียงอย่างเดียวได้ เนื่องจากมีโอกาสที่จะมีการกระจายของมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองน้อยมาก และได้ผลการรักษาที่ดีมาก โดยมีอัตราการอยู่รอดที่ 10 ปีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

2. มะเร็งระยะลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง (Locally advance gastric cancer) ก้อนของมะเร็งระยะนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าระยะเริ่มแรกและมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียง (Regional lymph node) อาการของผู้ป่วยระยะนี้คือปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน รับประทานอาหารได้ลดลง ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาเจียนเป็นเลือดได้ มะเร็งในระนี้ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดกระเพาะ ร่วมกับการผ่าตัดเลาะเอาต่อมน้ำเหลือง โดยรอบออก และให้การรักษาเสริมหลังผ่าตัดด้วยยาเคมีบัด เพื่อลดการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง โดยในปัจจุบันในรายที่เหมาะสม การผ่าตัดสามารถทำได้ด้วยเทคนิค การผ่าตัดส่องกล้องซึ่ง ได้ประโยชน์ในแง่ของ การฟื้นตัวที่เร็วกว่า ความปวดจากแผลผ่าตัดที่น้อยกว่า โดยไม่มีความแตกต่างกันของผลการผ่าตัดเมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิด

3. มะเร็งระยะแพร่กระจาย (Metastatic gastric cancer) หมายถึงมะเร็งระยะที่มีการกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ช่องท้อง ปอด หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป การรักษาหลักของระยะนี้คือการรักษา ด้วยยาเคมีบำบัด การผ่าตัดจะทำในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็ง เช่น ทางเดินอาหารอุดตัน หรือเลือดออกที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่น โดยทั่วไปผู้ป่วยที่อยู่ในระยะนี้จะมีการพยากรณ์โรค ที่ไม่ดี แต่ก็ยังมีผู้ป่วยบางรายที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด จนสามารถกลับมา ทำการผ่าตัดเพื่อเอามะเร็งออกได้

เป้าหมายของการรักษามะเร็งระยะกระจายนั้น คือ เพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็ง ลดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ แม้ว่าจะไม่หายขาด แต่สามารถทำให้อาการจากโรคมะเร็งดีขึ้น เช่น อาการปวดท้องลดลง อาการปวดลดลง รับประทานอาหารได้มากขึ้น และสามารถยืดชีวิตของผู้ป่วยได้นานยิ่งขึ้นพร้อมกับเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แนวทางการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารในระยะลุกลามนั้น คือ การใช้เคมีบำบัด(Chemotherapy) ร่วมกับยามุ่งเป้า (Targeted therapy) โดยดูจากร่างกายของคนไข้เป็นหลัก หากคนไข้แข็งแรงดีจะพิจารณาใช้เคมีบำบัด3ชนิด หากคนไข้ไม่แข็งแรงมากนักจะเริ่มเคมีบำบัดจากสูตรยา2ชนิดก่อน โดยหากให้เคมีบำบัดร่วมกับยามุ่งเป้าชื่อ Trastuzumab (HERCEPTIN) จะทำให้ลดขนาดก้อนของมะเร็งได้ดียิ่งขึ้นและยืดอายุคนไข้ได้ดีกว่าการให้เคมีบำบัดอย่างเดียว ผลของการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับTrastuzumabจะสามารถยืดอายุได้เป็นปี

ในระยะต่อมาหากคนไข้ไม่ตอบสนองกับเคมีบำบัดสูตรแรก (1st line) จะมีการใช้ยาเคมีบำบัดสูตรที่สอง (2nd line) ร่วมกับยามุ่งเป้าชื่อ Ramucirumab (CYRAMZA) เพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้โรคมะเร็งกระเพาะอาหารยังสามารถใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษาได้ โดยต้องทำการตรวจยีน (Gene testing) ก่อน หากผลตรวจยีนพบว่าเข้าได้ การให้ภูมิคุ้มกันบำบัดชื่อ Pembrolizumab (KEYTRUDA) สามารถทำให้คนไข้มีอายุยืนยาวขึ้นเป็นปี

ประโยชน์ของการตรวจยีนนั้น ทำให้คนไข้มีทางเลือกในการเข้าถึงการใช้ยามุ่งเป้ามากขึ้น สามารถใช้เป็นตัวเลือกได้ว่าจะได้รับประโยชน์จากการใช้ยามุ่งเป้าชนิดใดมากที่สุด และยังสามารถใช้พยากรณ์โรคได้อีกด้วย ปัจจุบันการตรวจยีนสามารถทำได้ทั้งจากการตรวจเลือดหรือเรียกว่า (Liquid Biopsy) และการตรวจจากชิ้นเนื้อ (Tissue Base) โดยใช้เวลาตรวจประมาณ 1 ถึง 2 สัปดาห์

นพ. ปาณทัต แกล้ววาที
อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา
โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

ศูนย์มะเร็งตรงเป้า – โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

โทรศัพท์ : 093-328-5561
หรือ : 02-115-2111 ต่อ 1169, 1170
แผนที่ : Google / รูปแผนที่ / เส้นทางเดินทาง
Facebook : HIFUCHULARAT
Line : hifu9000