โรคร้ายหมายเลขหนึ่งของผู้หญิง 😖😖
มะเร็งเต้านม แนวทางการรักษามะเร็งเต้านม

เมื่อถูกพบความผิดปกติของเต้านม ผู้ป่วยมักตื่นตระหนกและกังวลถึงกระบวนการรักษาที่จะตามมา การที่ผู้ป่วยได้รับกำลังใจที่ดี และข้อมูลวิธีการรักษาอย่างครบถ้วนมากเพียงพอ เป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้างความมั่นใจและช่วยประคับประคองผู้หญิงทุกคนให้ก้าวผ่านช่วงเวลาอันแสนยากลำบากนี้ไปได้

ซึ่งการรักษามะเร็งเต้านมประกอบด้วย 5 วิธีการหลักๆ คือ การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน และการรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ( Targeted therapy )

แน่นอนว่าการรักษาแต่ละวิธีย่อมมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป การจะเลือกใช้วิธีการรักษาแบบใดนั้นทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ อาทิศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง จะเป็นผู้ช่วยพิจารณาและวางแผนการรักษาตามภาวะและอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

การรักษามะเร็งเต้านม ประกอบไปด้วย👇👇

✅#การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักสำหรับระยะเริ่มแรก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หายขาด แต่ในบางครั้ง แม้จะมีการลุกลามแล้ว การผ่าตัดยังสามารถใช้เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการได้ด้วย

นอกจากวิธีการผ่าตัดเต้านมทิ้งทั้งหมดซึ่งเป็นวิธีการทั่วไปที่รู้จักกันดีอยู่แล้วนั้น ผู้หญิงเกือบ 100 % ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพจะรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งในระยะแรก หรือบางคนเป็นในระยะ 0 คือ เซลล์มะเร็งเต้านมยังอยู่แค่ภายในท่อน้ำนม ไม่ได้ลุกลามออกไปยังเนื้อเยื่อเต้านม ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมทิ้ง เราเรียกวิธีการนี้ว่าการผ่าตัดแบบสงวนเต้า

วิธีการผ่าตัดแบบเก็บสงวนเต้านมนี้เริ่มแพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งจุดประสงค์นอกจากจะเป็นการรักษามะเร็งเต้านมแล้ว ยังช่วยเรื่องความสวยงามของคุณผู้หญิงได้อีกด้วย แต่คนทั่วไปยังคงรู้สึกกลัวและมีความเชื่อว่าถ้าเป็นมะเร็งเต้านมแล้วจะต้องถูกตัดเต้าทิ้งเท่านั้น หากเก็บเต้านมไว้จะทำให้กลับมาเป็นมะเร็งได้อีก
แต่ในความเป็นจริงแล้วการรักษาทั้ง 2 วิธีนี้ได้ผลใกล้เคียงกัน แต่ข้อสำคัญของการรักษาแบบสงวนเต้าคือ เมื่อผ่าตัดแล้วต้องต่อด้วยการฉายแสงอีกประมาณ 25-33 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 15 นาที และต้องมาทำติดต่อกันทุกวันจนกว่าจะครบ เพื่อไปยับยั้งเซลล์ที่ผิดปกติ และควบคุมไม่ให้มะเร็งเกิดขึ้นมาใหม่

✅#การฉายรังสีรักษา เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์ของก้อนเนื้อที่ต้องการทำลาย รังสีรักษาสามารถถูกนำไปใช้ได้ทุกระยะของมะเร็งเต้านม เช่น ในระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย การใช้รังสีรักษาสามารถช่วยลดขนาดของก้อนเนื้องอกเพื่อให้สามารถผ่าตัดได้ง่ายขึ้น หรือใช้หลังการผ่าตัดเพื่อลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำ ส่วนในระยะที่มีการแพร่กระจายแล้ว การใช้รังสีรักษาสามารถช่วยบรรเทาอาการจากโรคมะเร็ง เช่น อาการปวด หรือเลือดออกจากก้อนมะเร็ง

ซึ่งในปัจจุบันเครื่องฉายรังสีมีวิวัฒนาการก้าวหน้าไปไกลมาก ผลข้างเคียงลดลง ความเจ็บปวดก็น้อยลง จนบางคนอาจไม่มีความรู้สึกถึงความเจ็บปวดจากการฉายแสงเลย

✅#การรักษาด้วยยา การใช้ยารักษามะเร็งเต้านม มีความหลากหลาย ได้แก่ ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน และยามุ่งเป้า การเลือกใช้ยาประเภทใดนั้น จะขึ้นอยู่กับ ระยะของโรค และประเภทของมะเร็เต้านมว่ามีตัวรับชนิดใดอยู่บ้าง โดย ยาต้านฮอร์โมน จะใช้ในมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมน และ ยามุ่งเป้า จะใช้ในมะเร็งเต้านมที่มีความผิดปกติของยีนที่เฉพาะเจาะจงกับยามุ่งเป้า ในมะเร็งระยะแรกนั้น การรักษาด้วยยามีจุดประสงค์เพื่อให้สามาถลดขนาดก้อนให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น หรือใช้หลังผ่าตัดเพื่อเพิ่มโอกาสการหายขาด และกรณีที่มีการลุกลามของโรค การใช้ยาสามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น

✅#การรักษาด้วยเคมีบำบัด
การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือคีโม คือการทำลายและหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลส์ มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวหรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็ง หรือป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และวิธีการนี้ยังช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากเนื้อร้ายของผู้ป่วยได้อีกด้วย โดยการให้เคมีบำบัดเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยสามารถทำได้โดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือแม้แต่ชนิดรับประทาน
อย่างไรก็ตาม เคมีบำบัดไม่ได้ออกฤทธิ์แค่กับเซลล์มะเร็งเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อเซลล์ที่ปกติและการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีการนี้จึงอาจเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นต้น โดยอาการข้างเคียงจะมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดยา และความแข็งแรงด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยแต่ละราย

✅#การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน
พบว่าการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมในผู้หญิงมีส่วนหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนในร่างกาย ได้แก่ เอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน, แอนโดนเจน, คอติโคสเตียรอย และฮอร์โมนโปรแลคติน หากเซลล์มะเร็งเต้านมที่ตรวจพบนั้นตอบสนองต่อการกระตุ้นจากฮอร์โมนข้างต้นได้ดี แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการลดระดับฮอร์โมนในร่างกาย หรือให้ยาที่ออกฤทธิ์ขัดขวางการส่งสัญญาณของฮอร์โมนที่เซลล์มะเร็ง ซึ่งวิธีการนี้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าการให้เคมีบำบัดมาก และการบริหารยายังทำได้สะดวกมากกว่าอีก

✅#การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy)
เป็นการรักษาด้วยยาหรือสารที่ออกฤทธิ์ยั้บยั้งการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งแพทย์สามารถพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีนี้วิธีเดียว หรือรักษาร่วมกับเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาได้ และถึงแม้ว่าการักษามะเร็งด้วยวิธี Targeted therapy จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัด แต่ก็ยังมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรสอบ ถามกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยละเอียดอีกครั้ง