โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

เกี่ยวกับศูนย์มะเร็งตรงเป้า
การดูแลรักษาที่ได้มาตรฐานระดับสากล

ศูนย์มะเร็งตรงเป้าโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2556 ให้บริการการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด ตั้งแต่การผ่าตัด การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ยามะเร็งมุ่งเป้า ยาภูมิคุ้มกันบำบัด การตรวจและรักษาทางรังสีวิทยา (Interventional Radiology) เช่นการฉีดยาเคมีบำบัด อุดหลอดเลือดเลี้ยงมะเร็งตับ (TACE) โดยใช้รักษาร่วมกับการรักษามาตรฐานอื่น เพื่อให้ผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น

ศูนย์มะเร็งตรงเป้าโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ตตั้งอยู่บน ถ.กิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ที่เป็นใจกลางการคมนาคมของประเทศไทย

ศูนย์มะเร็งตรงเป้าโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต ให้บริการการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งมากกว่า 1,000 รายต่อปี จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นศูนย์มะเร็งที่รวมความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย โดยได้จัดตั้งเป็นทีมสหวิชาชีพที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาได้แก่ อายุรแพทย์โรคมะเร็ง อายุรแพทย์มะเร็งโลหิตวิทยา นรีแพทย์มะเร็งวิทยา ศัลยแพทย์ทั่วไป ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูก ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านช่องปากและลำคอ ศัลยแพทย์ระบบประสาท แพทย์รังสีร่วมรักษา แพทย์แผนจีน พยาบาล เภสัช นักกายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์ โภชนาการ และบุคลากรวิชาชีพอื่น ๆ เพื่อการรักษาแบบบูรณาการที่มีคุณภาพ

ทางศูนย์มะเร็งตรงเป้าฯเป็นหน่วยงาน one stop service กล่าวคือ ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยงานนี้เป็นหลัก โดยทางหน่วยงานจะดำเนินการประสานงานทีมแพทย์ และทีมสนับสนุนทุกสาขาเพื่อความสะดวกและรวดเร็วต่อผู้รับบริการ นอกจากนั้นยังมีทีมพยาบาลให้คำปรึกษาทาง Line และโทรศัพท์แก่ผู้ป่วยและญาติด้วยความเป็นกันเอง

ในอนาคตทางกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) ได้จัดเตรียมเพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยของศูนย์มะเร็งตรงเป้าฯ โดยมีโครงการสร้างโรงพยาบาลมะเร็งสุวรรณภูมิ บนถนนกิ่งแก้ว ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในปี พ.ศ.2563 จะทำให้เราสามารถให้บริการผู้ป่วยมะเร็งได้ดี และมีศักยภาพสูงยิ่งขึ้น

ความพร้อมในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง

ประเทศไทยพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงอันดับ 1 ของคนไทยต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2543 ประมาณร้อยละ 20 ของผู้เสียชีวิตทุกสาเหตุ ตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2553 ระบุว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 269,204 คน มากที่สุดคือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ราว 50,000 คน รองลงมาเป็นมะเร็งท่อน้ำดี 40,500 คน มะเร็งเต้านม 36,000 คน มะเร็งปากมดลูก 22,000 คน และมะเร็งอวัยวะสืบพันธ์หญิง 16,000 คน มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งทุกชนิด 58,076 คน เป็นชาย 33,659 คน หญิง 24,417 คน

ทั้งนี้ การก่อตัวของโรคมะเร็งจะค่อยเป็นค่อยไปไม่รู้ตัว ขอแนะนำผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพค้นหาความผิดปกติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากตรวจพบเร็วโอกาสรักษาหายจะมีสูง สัญญาณผิดปกติเยื้องต้นที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งมี 7 ประการ ได้แก่

  1. มีเลือดออกหรือมีสิ่งขับออกจากร่างกายผิดปกติ เช่น ตกขาวมากเกินไป
  2. มีก้อนเนื้อหรือตุ่มเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนเนื้อนั้นโตเร็ว
  3. มีแผลเรื้อรังรักษาหายยาก
  4. ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะผิดปกติ
  5. เสียงแหบหรือไอเรื้อรัง
  6. กลืนอาหารลำบากหรือทานอาหารแล้วไม่ย่อย
  7. มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝ

“หากมีอาการเหล่านี้ขอไปให้พบแพทย์โดยเร็ว”
จากข้อมูลในปี 2556 ของโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 พบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งจำนวน 577 ราย ให้ยาเคมีบำบัดจำนวน 494 ราย โรคมะเร็งที่พบบ่อยได้แก่

  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
  • มะเร็งรังไข
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งหลอดอาหาร
  • มะเร็งโพรงจมูก
ศูนย์มะเร็งตรงเป้า

สารบ่งชี้มะเร็ง Tumor Markers คืออะไร?? ตรวจรู้ผลทันทีใน 1 ชั่วโมง

สารบ่งชี้มะเร็ง Tumor Markers

เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจทางการแพทย์ โดยตรวจจากเลือดหรือสารคัดหลั่งจากร่างกายมนุษย์ โดยใช้หลักการที่ว่า เนื้องอกในร่างกายหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็ง มักจะปล่อยสารบางชนิดสู่กระแสเลือด ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นโมเลกุลของโปรตีน ซึ่งแตกต่างกันตามชนิดของเนื้องอก สารที่พบเหล่านี้สามารถตรวจพบโดยเซรั่มชนิดต่างๆ ตามชนิดของสารนั้นๆ

ประโยชน์ที่สำคัญของการเจาะเลือดตรวจ Tumor marker คือ

  1. การเจาะก่อนและหลังการรักษาเพื่อประเมินว่าการรักษาได้ผลหรือไม่ หากหลังการรักษาระดับลดลงแสดงว่าการรักษาได้ผลดี
  2. นอกจากนั้นยังใช้ติดตามการรักษา กล่าวคือหลังการรักษาได้สินสุดแล้วแพทย์จะนัดตรวจเลือดเป็นระยะเพื่อดูว่ามะเร็งกลับเป็นซ้ำอีกหรือไม่
  3. นอกจากนั้นระดับของ Tumor marker บางชนิดยังบอกความรุนแรงของโรคมะเร็ง

การตรวจเลือดที่นิยมตรวจกันได้แก่

Alpha-1-fetoprotein (AFP)

ใช้ในการตรวจกรองหาผู้ป่วยมะเร็งตับ (hepatoma) ในระยะเริ่มแรกก่อนที่จะมีอาการทางคลีนิค ใช้ตรวจในประชากรที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับสูง เช่น ผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี / ตับอักเสบเรื้อรัง / ตับแข็ง โดยควรมีการตรวจซ้ำทุก 3-6 เดือนต่อครั้งอาจพบค่า AFP สูงได้ในสตรีที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป / ทารกในครรภ์

Carcinoembryonic antigen CEA

พบได้เล็กน้อยในคนปกติ สารตัวนี้จะสูงในมะเร็งลำไส้โดยเฉพาะมะเร็งที่ได้แพร่กระจายไปแล้ว นอกจากนั้นยังใช้การเจาะเลือดหาสารตัวนี้เพื่อเฝ้าติดตามว่ามะเร็งกลับเป็นมาใหม่อีกหรือไม่ นอกจากนั้นยังพบสารนี้ในมะเร็งชนิดอื่นเช่น มะเร็งไฝ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร นอกจากนั้นยังว่าว่ามีค่าสูงในภาวะที่ไม่ใช่มะเร็งได้แก่ ลำไส้อักเสบ ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ การสูบบุหรี่

Prostatic Specific Antigen (PSA)

เป็น tumor marker อีกชนิดหนึ่งที่ได้รับการยอมรับให้ใช้ตรวจกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ในกลุ่มผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยแนะนำให้ตรวจ PSA ร่วมกับการตรวจคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (digital rectal examination) และควรเจาะเลือดตรวจก่อนดำเนินการตรวจทางทวารหนัก เนื่องจากการกระทำใดๆ ต่อต่อมลูกหมาก เช่น การกดคลำ จะทำให้มีการปลดปล่อย PSA ออกจากต่อมลูกหมากมากกว่าปกติ เป็นผลให้ระดับ PSA ขึ้นสูงกว่าที่ควรจะเป็น

Carbohydrate antigen CA 19-9

พบสูงในโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน กระเพาะอาหาร และถุงน้ำดี ภาวะอื่นที่ทำให้ค่านี้สูงได้แก่ ตับอ่อนอักเสบ ตับแข็ง นิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ

Carbohydrate antigen CA 125

เกี่ยวข้องกับมะเร็งรังไข่ การมีระดับสูงในซีรั่มมักพบในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ประมาณ 75 % และสัมพันธ์ดีกับขนาดของก้อนเนื้องอกและการกลับมาเป็นใหม่การตรวจหา CA125 ในการพยากรณ์โรค และติดตามผลการรักษาและการกลับมาเป็นใหม่ของ adenocarcinoma ของรังไข่ในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่อาจพบค่าสูงได้ถึง 13,000 U/ml. และหลังการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกค่า CA125 จะลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 1 อาทิตย์ และกลับสู่ระดับ ปกติภายใน 3 อาทิตย์หลังการรักษา

Beta-human chorionic gonadotropin (beta-HCG)

ฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ซึ่ง beta-HCG จะมีค่าขึ้นสูงในหญิงมีครรภ์ แต่จะสูงมากในผู้ป่วยครรภ์ไข่ปลาอุก (molar pregnancy), ผู้ป่วยมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก (choriocarcinoma), มะเร็งของรังไข่ และ/หรือ อัณฑะ ชนิด teratogenic carcinoma รวมทั้งผู้ป่วยมะเร็งปอดบางรายก็สามารถตรวจพบ beta-HCG สูงเกินปกติได้ในคนปกติจะใช้ beta-HCG เป็น marker สำหรับตรวจสอบการตั้งครรภ์

CA15-3

สารนี้เป็นตัวที่ติดตามโรคมะเร็งเต้านมได้ดีที่สุดโดยเฉพาะมะเร็งเต้านมที่แพร่กระจายแล้ว เพราะมะเร็งในระยะเริ่มแรกค่าสารนี้จะไม่สูง

หลักการรักษามะเร็ง

การรักษามะเร็งถือเป็นงานท้าทายวงการแพทย์มากที่สุดโรคหนึ่ง เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคที่รักษายากหลักการรักษามะเร็งประกอบด้วย

1. การผ่าตัดรักษามะเร็ง

การผ่าตัดรักษามะเร็ง คือ การผ่าเอาเนื้อมะเร็งออกจากร่างกาย บางคนคาดหวังว่าหลังการผ่าตัดรักษามะเร็งแล้วจะหายขาด แต่การผ่าตัดรักษามะเร็งต้องปรึกษากับแพทย์ถึงเป้าหมายในการผ่าตัดรักษามะเร็ง ว่าหลังผ่าตัดแล้วจะรักษามะเร็งหายขาดหรือไม่ ?

การผ่าตัดรักษามะเร็งระยะเริ่มต้นจะหายขาด แต่ถ้ามะเร็งมีขนาดใหญ่หรือว่ามะเร็งบางชนิดมีการแพร่กระจายมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้นการรักษามะเร็งอาจจะจำเป็นต้องให้เคมีหรือฉายแสงฆ่าเซลล์มะเร็งส่วนที่ตัด ออกไม่หมด

2. การฉายแสงรักษามะเร็ง

ผู้ป่วยที่ต้องการทำรักษามะเร็งโดยการฉายรังสี แพทย์รังสีจะเป็นผู้วางแผนการฉายรังสี การใช้รังสีรักษามะเร็งผู้ป่วยในผู้ป่วยแต่ละราย ระยะเวลารักษามะเร็งและขนาดของรังสีที่ใช้ในการรักษามะเร็งจะแตกต่าง ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง การตอบสนองและระยะมะเร็ง การฉายรังสีรักษามะเร็งต้องอาศัยระสบการณ์และความชำนาญเพื่อให้การรักษามะเร็งมีประสิทธิผลสูงสุด

การฉายรังสีรักษามะเร็งเป็นการรักษามะเร็งที่ไม่มีความเจ็บปวดไม่เสียเลือด และการรักษามะเร็งด้วยรังสีส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ผลทางด้านรังสียังไม่เกิดขึ้นทันที แต่เมื่อผู้ป่วยมะเร็งได้รับการฉายรังสีเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงจะเริ่มมีผลข้างเคียงหรือผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการฉายรังสี เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ผิวหนังมีสีคล้ำขึ้น เป็นต้น

3. เคมีบำบัด

เคมีบำบัด คือ การรักษามะเร็งด้วยยาเพื่อควบคุมหรือทำลายเซลล์มะเร็ง เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งและทำลายเซลล์มะเร็ง การรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปากอักเสบ ผมร่วง มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของยา สภาวะความแข็งแรงของร่างกาย ความพร้อมทางด้านจิตใจของผู้ป่วยมะเร็งด้วย แพทย์จะสั่งใช้ยารักษามะเร็งชนิดใดขึ้นอยู่กับชนิดและตำแหน่งของมะเร็ง และสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็ง

ปัจจุบันการใช้ยารักษาโรคมะเร็งร่วมกันหลายชนิด จะให้ผลที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ยาชนิดเดียวยารักษามะเร็งมีทั้ง ชนิดน้ำ ชนิดเม็ด ชนิดฉีด ยารักษามะเร็งไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดมากไปกว่ายาที่ใช้รักษาโรคอื่นๆ แต่เนื่องจากกรรักษามะเร็งด้วยวิธีการหลักทั้ง 3 วิธีการยังมีปัญหาไม่สามารถรักษามะเร็งให้หายขาดได้ทุกราย บางรายที่ดูเหมือนอาการดีขึ้น ผ่านไปไม่กี่ปีโรคมะเร็งก็กลับมาเป็นอีก ดังนั้น การตรวจสุขภาพเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากตรวจพบมากขึ้นทุกวัน เชื่อว่าจะเพิ่มความหวังให้ผู้ป่วยมากขึ้นตามลำดับ

สถานที่รับบริการและความพร้อมของอุปกรณ์

หน่วยงาน One Day Chemotherapy ให้ยาเคมีบำบัด แบบไม่ต้องนอนค้างคืน โดยภายในห้องประกอบด้วย

  • เก้าอี้สำหรับผ่อนคลาย 5 ตัว พร้อมเคเบิ้ลทีวี WiFi ให้ผ่อนคลาย
  • ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก 3 ห้อง
  • หอผู้ป่วยจำนวน 20 เตียง
  • ห้องผ่าตัดใหญ่ 2 ห้อง
  • ตู้ผสมยาเคมีบำบัดได้มาตรฐาน

ความพร้อมในการบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยมะเร็ง

  • การให้การรักษาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง
  • การให้คำปรึกษาเรื่องโภชนาการ
  • การให้ความช่วยเหลือด้านสภาวะจิตใจ
  • การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ให้เกิดความสุขสบายลดภาวะทุกข์ทรมาน