ข้อต่อปวดบวม อย่านิ่งนอนใจ..อาจเสี่ยงเป็นโรคร้ายมะเร็งกระดูก ‼

Bone cancer หรือ Malignant bone tumor

มะเร็งกระดูก คือโรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อกระดูกเอง โดยมักจะเกิดในอวัยวะพวกรยางค์แขนขา ซึ่งตำแหน่งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นใกล้กับข้อ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อไหล่ เป็นต้น เป็นโรคมะเร็งที่พบได้น้อย สามารถเกิดได้กับคนทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะพบในคนอายุต่ำกว่า 35 ปี พบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 10-20 ปี (ในเด็กโต วัยรุ่น และคนวัยหนุ่มสาว ) และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย ซึ่งโรคมะเร็งกระดูกนี้จะพบได้เพียงประมาณ 6% ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมด

 

โรคมะเร็งกระดูกมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อย ๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ

ชนิดออสตีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) หรือเรียกว่า “มะเร็งเซลล์กระดูก” เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด มักพบในเด็กและวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะในช่วงอายุประมาณ 10-20 ปี

ชนิดคอนโดรซาร์โคมา (Chondrosarcoma) หรือเรียกว่า “มะเร็งเซลล์กระดูกอ่อน” เป็นชนิดที่พบได้ในคนอายุมากกว่า 50 ปี

ชนิดอีวิง (Ewing’s sarcoma) เป็นชนิดที่พบได้มากในเด็กและคนอายุน้อยกว่า 30 ปี

อาการของโรคมะเร็งกระดูก

อาการ ในระยะแรกผู้ป่วยมักมีอาการปวดและบวม ซึ่งการปวดอาจเป็น ๆ หาย ๆ ในระยะแรก (ส่วนใหญ่จะปวดในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน) และจะค่อย ๆ ปวดมากขึ้นและปวดตลอดเวลาในระยะเวลาต่อมา (อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวร่างกายหรือต้องใช้แขนหรือขา) เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น ผู้ป่วยจะคลำได้ก้อนแข็งหรือปุ่มยื่นออกมาจากกระดูกตรงกระดูกส่วนที่เป็นโรค ซึ่งส่วนใหญ่จะพบที่กระดูกขา (บริเวณรอบ ๆ เข่า) และกระดูกแขน มีส่วนน้อยที่พบที่บริเวณอื่น ๆ ถ้าเกิดใกล้บริเวณข้อจะส่งผลให้เกิดอาการข้อบวม เจ็บ เกิดการติดขัดของการใช้ข้อหรือข้อยึดติด

ส่วนกระดูกแตกหรือหักจะพบได้ในระยะท้าย ๆ ของโรค (กระดูกหักเป็นผลสืบเนื่องมาจากโรค ไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งกระดูก) ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการกระดูกแตกหักจากการกระทบกระแทกเล็กน้อยหรือเดินแล้วหัก และเข้าใจผิดคิดว่าเป็นกระดูกแตกหักจากอุบัติเหตุทั่วไปได้

– นอกจากนี้ยังอาจพบอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ซีด น้ำหนักตัวลดลง เป็นต้น

– เมื่อโรคลุกลาม อาจส่งผลให้ก้อนเนื้อแตกเป็นแผลเลือดออกเรื้อรัง หรือโรคแพร่กระจายไปที่ปอดทำให้มีอาการหอบเหนื่อย หรือแพร่กระจายเข้าไขกระดูกก่อให้เกิดภาวะซีดและอ่อนเพลีย บางครั้งอาจมีไข้ต่ำ ๆ เมื่อโรคลุกลาม ส่วนอีกอาการที่อาจพบได้ คือ คลำพบต่อมน้ำเหลืองข้อพับที่ใกล้กับกระดูกที่เกิดโรคโต แต่ไม่เจ็บ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตเมื่อโรคเกิดกับกระดูกต้นขา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกบางรายอาจมีรอยโรคเกิดขึ้นแต่ไม่มีอาการก็ได้ และแพทย์มักตรวจพบจากการที่ผู้ป่วยมาตรวจสุขภาพประจำปี หรือเกิดอุบัติเหตุ เล่นกีฬา และมาตรวจเอกซเรย์แล้วพบ ซึ่งปัจจุบันมักจะพบลักษณะนี้มากขึ้น

ระยะของโรคมะเร็งกระดูก

แบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่น ๆ และบางระยะยังแบ่งย่อยได้อีก แต่ที่แตกต่างจากโรคมะเร็งชนิดอื่น คือ ระยะของโรคจะขึ้นอยู่กับการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ เซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง และเซลล์มะเร็งแบ่งตัวต่ำ ซึ่งทั้ง 4 ระยะของโรค คือ

👉ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งลุกลามอยู่จุดเดียวในกระดูกและเป็นเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวต่ำ

👉ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งลุกลามจุดเดียวในกระดูก แต่เป็นเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวสูง

👉ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งลุกลามหลายจุดในกระดูก หรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงกระดูก

👉ระยะที่ 4 โรคมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และ/หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งมักแพร่กระจายไปสู่กระดูกชนิดอื่น ๆ ปอด และไขกระดูก

การรักษา

มีเป้าหมายเพื่อนำเนื้องอกออกให้หมดและหวังให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรค โดยวิธีการรักษานี้จะแบ่งออกเป็น

1. การผ่าตัด ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดเนื้องอกและเนื้อเยื่อรอบข้างออก ซึ่งประมาณ 75-80% สามารถผ่าตัดเอาเนื้องออกโดยไม่ต้องตัดแขนหรือขาที่เป็นโรคแล้ว หลังจากนั้นศัลยแพทย์จะใส่เหล็กหรือกระดูกจากส่วนอื่นของร่างกายเข้าไปแทนที่กระดูกที่ถูกตัดออกไป แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องตัดแขนหรือขา (เช่น ในผู้ป่วยที่แพทย์ไม่สามารถตัดเนื้องอกมะเร็งออกได้หมด ผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำกายภาพบำบัดได้)

โดยการผ่าตัดจะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การตัดอวัยวะ และการเก็บอวัยวะ

การตัดอวัยวะ คือ การตัดแขนหรือขาส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป โดยแพทย์จะตัดเฉพาะส่วนของตัวกระดูกที่เป็นเนื้องอกออกไป และให้ผู้ป่วยใส่แขนเทียมหรือขาเทียม แต่การรักษานี้จะไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็งและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย (ในสมัยก่อนการตัดอวัยวะเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยทุกคนเป็นกังวล แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีเรื่องของขาเทียมนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งในเรื่องของวัสดุที่มีคุณภาพและความสะดวกสบายในการปรับใช้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนคนปกติ ดังนั้น การใช้ขาเทียมจึงแทบไม่เป็นปัญหาอะไร ส่วนที่เหลือคือผู้ป่วยจะต้องมีการฝึกเดินและปรับเปลี่ยนความคิดว่าการตัดขาไม่ใช่การสิ้นสุดของชีวิต)

การเก็บอวัยวะ โดยการใช้ข้อเทียมทดแทนกระดูกส่วนที่แป็นมะเร็ง การรักษาจะเป็นการใส่ข้อเทียมที่เป็นโลหะทดแทนที่เรียกว่า “Endoprosthesis” โดยไม่ต้องตัดแขนหรือขาอย่างในสมัยก่อน หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถลุกเดิน ลงน้ำหนัก และขยับแขนขาได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (การใช้ข้อเทียมในการรักษาโรคมะเร็งกระดูกจะไม่เหมือนกับการใช้ข้อเทียมแบบอื่น เพราะข้อเทียมที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งกระดูกจะต้องใช้โลหะที่มีความแข็งแรงมากกว่า ส่วนกรรมวิธีในการผลิตก็จะมากกว่าด้วยเช่นกัน)

2. การให้ยาเคมีบำบัด เนื่องจากการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการรักษามะเร็งกระดูก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งกระดูกชนิดออสตีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) ที่พบได้เป็นส่วนใหญ่และตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัด) เพราะบางครั้งมะเร็งอาจมีการแพร่กระจายออกไปยังอวัยวะอื่นได้ (ที่พบบ่อยที่สุด คือ ปอด) ซึ่งการให้ยาเคมีบำบัดจะสามารถช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งกระดูกบางชนิดได้ ซึ่งแพทย์มักจะให้ยาเคมีบำบัด 3-4 รอบก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง หรือในกรณีที่มะเร็งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วหรือเป็นมะเร็งกระดูกระยะสุดท้ายแล้ว เพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งเพื่อช่วยให้การผ่าตัดทำได้ง่ายขึ้น และยังช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ด้วย และหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องได้รับยาเคมีบำบัดอีกเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่

3. การให้รังสีรักษา เป็นการรักษาร่วมที่แพทย์จะเลือกใช้เฉพาะในรายที่ผ่าตัดไม่ได้หรือเมื่อโรคแพร่กระจายแล้ว หรือในรายที่ผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกไม่หมดหรือยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ในร่างกาย การใช้รังสีรักษานี้มีทั้งการใช้ก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของก้อนเนื้องอกและการใช้หลังผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ในร่างกาย นอกจากนี้การใช้รังสีรักษายังมีส่วนช่วยในการลดขนาดของการผ่าตัดทำให้ไม่ต้องตัดแขนหรือขาส่วนที่เป็นมะเร็งออก และช่วยลดความเจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็งกระดูกระยะสุดท้ายได้ด้วย

4. การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นการรักษาโดยใช้ยาที่เข้าไปรักษายีนโดยตรง ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและก็มีการค้นพบเรื่อย ๆ ในเรื่องของยีนที่เฉพาะเจาะจงกับโรคมะเร็งกระดูก แต่ว่ามะเร็งกระดูกจะแตกต่างจากมะเร็งชนิดอื่น คือ ในก้อนมะเร็งกระดูกจะมียีนอยู่หลายชนิด และยีนแต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถบอกได้ว่ามะเร็งกระดูกมียีนที่เป็นยีนชนิดเดียวกัน ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีนี้จึงยังเข้าไม่ถึงจนกว่าจะสามารถทราบได้ว่ามะเร็งกระดูกมียีนอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง

5. การติดตามการรักษาเป็นระยะ ภายหลังการรักษาแพทย์จะมีการติดตามการรักษาเป็นระยะ ๆ เพื่อสอบถามอาการ (เช่น อาการปวดกระดูก บวม เป็นต้น), ตรวจร่างกาย, ตรวจเลือด และตรวจเอกซเรย์หรือสแกนกระดูก (Bone scan) เพื่อสืบค้นว่าผู้ป่วยมีการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งหรือไม่ และมะเร็งมีการกระจายไปที่ปอดหรือกระจายไปที่กระดูกส่วนอื่นหรือไม่ เพราะประมาณ 80% ของผู้ป่วยจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำภายใน 2 ปี และอีกประมาณ 20% ที่เหลือจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำเมื่อครบประมาณ 5 ปี แต่พอหลังจาก 5 ปีไปแล้ว โอกาสการเกิดซ้ำของโรคมะเร็งหรือการกระจายของมะเร็งจะลดลงไปมาก คือ ถ้าเกิน 5 ปีไปแล้ว ไม่มีการเกิดของโรคซ้ำอีก จึงจะเรียกว่าหายขาดได้

6. การดูแลตนเอง ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดจะต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายร่วมด้วย ผู้ป่วยที่หายจากมะเร็งกระดูกแล้วจะต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายตามควรแก่สุขภาพ ควบคุมน้ำหนักให้ดี งดการสูบบุหรี่ และตรวจเช็คมะเร็งกระดูกเป็นระยะ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมในการปฏิบัติตัว