อาการแสดงของมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบไหนต้องเฝ้าระวัง ‼️‼️‼️

อาการและอาการแสดงขึ้นอยู่กับการที่มะเร็งเป็นในระยะใด ถ้ามะเร็งยังอยู่เฉพาะที่ในลำไส้ใหญ่ อาการจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของรอยโรคที่เป็น แต่ถ้ามะเร็งแพร่กระจายออกไปแล้ว อาการของผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่มะเร็งกระจายไป เช่น ถ้าไปที่ปอดก็อาจมีอาการหอบเหนื่อยหรือไอ ถ้าไปที่ตับอาจมีอาการเจ็บแน่นใต้ชายโครงขวา ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือตรวจพบว่าตับโต เป็นต้น
แต่ถ้าโรคเป็นระยะที่เป็นเฉพาะที่ในลำไส้ใหญ่ อาจแบ่งกลุ่มอาการเป็น 3 ลักษณะตามตำแหน่งของก้อนมะเร็ง

1.Right Colon Cancer เนื่องจากเวลาที่อุจจาระผ่านจาก Ileocecal Valve มาที่ลำไส้ใหญ่ซีกขวา อุจจาระจะยังอ่อนตัวอยู่ ทำให้สามารถผ่านบริเวณรอยโรคที่ก้อนมะเร็งอยู่ไปได้สะดวก จึงไม่ค่อยพบอาการของการอุดตันของลำไส้ใหญ่จากก้อนมะเร็ง นอกจากนี้เส้นผ่าศูนย์กลางของลำไส้ใหญ่ซีกขวายังมีขนาดใหญ่กว่าลำไส้ใหญ่ซีกซ้าย มะเร็งที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้จึงสามารถเจิญเติบโตได้มาก โดยที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของการอุดตันหรือความผิดปกติของการขับถ่าย ( Bowel Habit Change) รอยโรคบริเวณนี้มักจะเกิดจากการที่ก้อนมะเร็งมีการแตกเป็นแผล (Ulcer) เกิดการเสียเลือดทีละน้อย  จนเกิดอาการของโรคโลหิตจางได้ และมาหาแพทย์ด้วยอาการของโรคโลหิตจาง เช่น อ่อนเพลีย ใจสั่น ไม่มีแรง ซีด เป็นต้น

การตรวจทางห้องปฏิบัติการอาจพบหรือไม่พบเลือดในอุจจาระ (Stool Occult Blood) ก็ได้ เพราะเลือดที่ออกจากก้อนมะเร็งอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวไม่ได้เป็นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นถ้าตรวจพบ Iron deficiency Anemia ในผู้ใหญ่ที่ไม่พบสาเหตุใด ๆ ชัดเจนที่อธิบายภาวะโลหิตจางจากการขาดเหล็กได้ชัดเจน (ยกเว้นในผู้หญิงที่มีประจำเดือน ซึ่งอาจอธิบายได้ด้วยการเสียเลือดไปทางประจำเดือน) ควรคิดถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และถ้ามีอาการที่น่าสงสัยอาจต้องพิจารณาตรวจค้นเพิ่มเติม เช่น ทำ Endoscopy หรือ Double Contrast Barium Enema

2. Transverse and Descending Colon เมื่ออุจจาระผ่านมาถึงบริเวณ Transverse และ Descending Colon จะมีการดูดน้ำกลับไปทางลำไส้ใหญ่ ทำให้อุจจาระมีความเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้นถ้ามีก้อนมะเร็งเกิดขึ้นในบริเวณนี้และอุดกั้นการเคลื่อนตัวของอุจจาระ อาจทำให้เกิดการอุดตันเกิดขึ้น เกิดอาการปวดท้อง (Abdominal Cramping) เกิดการอุดตัน (Obstruction) จนเกิดการแตกทะลุของลำไส้ใหญ่ส่วนที่เหนือต่อการอุดตันได้ (Perforation) เมื่อตรวจสอบทางรังสีจะพบลักษณะเฉพาะของรอยโรคที่เรียกว่า Apple-core หรือ Napkin-ring เหมือนวงแหวนรัดรอบลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นตำแหน่งของก้อนมะเร็งที่โตรอบผนังลำไส้ใหญ่

3. Rectosigmoid Colon and Rectal Cancer เนื่องจากอุจจาระที่มาถึงบริเวณส่วนปลายของลำไส้ใหญ่จะมีลักษณะค่อนข้างแข็งตัว และเส้นผ่าศูนย์กลางของลำไส้ใหญ่บริเวณนี้มีขนาดเล็กกว่าส่วนต้น ทำให้อาจพบอาการต่าง ๆ หลายชนิด ประกอบด้วยอาการถ่ายเป็นเลือด (Hematochezia)
ปวดเบ่ง (Tenesmus) อุจจาระมีลักษณะเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กลง ( Narrowing in the Caliber of Stool ) ส่วนอาการโลหิตจางจะพบน้อยกว่ามะเร็งที่เป็นบริเวณส่วนต้นของลำไส้ใหญ่ บางรายอาจมาหาแพทย์ด้วยอาการถ่ายอุจจาระผิดปกติ (Bowel Habit Change) การตรวจร่างกายด้วย Digital Rectal Examination และ Proctosigmoidoscopy จะช่วยวินิจฉัยโรคได้