มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติที่ไม่สามารถควบคุมได้ของเซลล์เยื่อบุหลอดลมและถุงลม ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ สามารถกระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะที่อยู่ไกลได้ มะเร็งปอดเป็นสาเหตุและเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด

  • บุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอด ร้อยละ 80-90 ทั้งผู้ที่สูบเองและบุคคลใกล้ชิดควันบุหรี่ (secondhand smoker)
  • มลพิษต่างๆ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มการก่อมะเร็ง ที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบมากขึ้น เข้าไปเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในระดับเซลล์ทำให้เกิดความผิดปกติ
  • อายุที่มากขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่สูงขึ้น
  • โรคมะเร็งบางชนิดและการรักษาโรคมะเร็งที่ได้รับมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับการรักษายาเคมีบำบัดกลุ่ม alkylating agent ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณทรวงอก
  • การสัมผัสกับสารก่อมะเร็งนานๆ เช่น เรดอน สารหนู โครเมี่ยม ควันจากการเผาไหม้ถ่านหิน แร่ใยหิน แคดเมียม นิกเกิล ซิลิกา ควันดีเซล

อาการของโรคมะเร็งปอด

  • มีอาการทางเดินหายใจ ไอมาก ไอเรื้อรัง บางครั้งอาจมีเสมหะปนเลือด
  • เจ็บแน่นหน้าอก ไหล่ หลังส่วนบน โดยอาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
  • หายใจลำบาก หายใจเหนื่อยมากขึ้น ทำกิจกรรมต่างๆได้ลดลง
  • มีการติดเชื้อในปอดซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง
  • อาการอื่นๆ เช่น มีไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เสียงแหบ ปวดกระดูก กลืนลำบาก นอนราบไม่ได้ เป็นต้น

การวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งปอด

นอกจากการซักประวัติตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้นเพื่อประเมินภาวะสุขภาพแล้วจะมี การตรวจรังสีวินิจฉัย เช่น CT-scan, PET/CT เพื่อประเมินระยะของโรค และการนำชิ้นเนื้อไปตรวจ

การรักษาในระยะเริ่มแรกแพทย์จะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเป็นหลัก หรือถ้ามีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองจะพิจารณาให้ยาเคมีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัดหรือยามุ่งเป้าเป็นการรักษาเสริมในบางรายได้ ระยะที่ 3 จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด การฉายรังสีรักษา และ/หรือ ร่วมกับยาเคมีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด ในระยะแพร่กระจายทางเลือกการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งปอดที่พบและตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมในก้อนมะเร็งเพิ่มเติมหากพบก็พิจารณาให้ยามุ่งเป้า หากไม่พบก็ตรวจ PD-L1 เพื่อพิจารณาให้ภูมิคุ้มกันบำบัด และ/หรือ ยาเคมีบำบัดต่อไป