พิษร้ายควันธูป เสี่ยงโรคมะเร็งปอด จุดไหว้ประจำพบสารก่อมะเร็งมากถึง 63 เท่า

สายมูควรระวัง สิ่งนี้ทำให้เกิดควันที่มีสารมลพิษ และมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งปอดไม่แตกต่างจากควันบุหรี่

การสูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่ ถือเป็นปัจจัยสำคัญหลักในการเกิดโรคมะเร็งปอด แต่ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ที่จะมีการจุดธูปกันจำนวนมาก ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงเทียบเท่ากับควันบุหรี่เช่นกัน

เนื่องจากการเผาไหม้ของควันธูป จะทำให้เกิดอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ประกอบกับในธูปยังพบสารก่อมะเร็งมากถึง 3 ชนิด ได้แก่ เบนซีน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน

ผู้ที่ได้รับสัมผัสเป็นเวลานานจึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอดได้

นอกจากนี้ยังมีสารที่เป็นมลพิษอื่นๆ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ผู้ที่สูดดมเข้าไปจะเกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ เกิดการจาม ไอ ระคายคอ หายใจลำบาก ปวดศีรษะ

หรือแม้แต่ควันธูปเข้าตาก็อาจทำให้แสบตา น้ำตาไหลได้

ถึงแม้งานวิจัยทั่วไปจะระบุไว้ ว่าต้องมีการสัมผัสหรือสูดดมเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน 10 ปี แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม หรือระบบการระบายอากาศในสถานที่จุดธูป หากระบบการถ่ายเทอากาศไม่ดี ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

สธ.ชี้ระบุสถานที่ที่จุดธูปประจำมีสารเบนโซเอไพรีน มากกว่าถึง 63 เท่า คนทำงานในวัดมีสารก่อมะเร็งในเลือดสูงกว่าคนทั่วไป 4 เท่า

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เมื่อมีการจุดธูป เทียน ได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอด โรคถุงลมโป่งพอง หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เพราะบุคคลกลุ่มนี้มีกลไกการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายไม่เหมือนปกติ ทำให้มีโอกาสเกิดอาการผิดปกติได้มากกว่าในกลุ่มคนที่มีสุขภาพดี