สัญญาณของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cancer) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในกระเพาะปัสสาวะที่มีการเจริญเติบโต แบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์อย่างรวดเร็วและมากผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้องอกขึ้นมา และก้อนเนื้องอกนี้สามารถเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจเต็มกระเพาะปัสสาวะ ลุกลามไปยังอวัยวะและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง และแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้อหากตรวจพบโรคได้เร็วก็จะมีโอกาสหายได้มาก อย่างไรก็ตาม แม้จะตรวจพบได้ในระยะแรกและรักษาหายแล้ว แต่มะเร็งชนิดนี้ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง (Recurrence)
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคที่พบได้ประมาณ 3% ของโรคมะเร็งทั้งหมด พบได้มากเป็นอันดับ 6 ของโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชายรองจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถพบเกิดได้ในทุกเพศทุกวัยแต่ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า และพบได้มากในช่วงอายุ 50-70 ปี
อาการของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ในระยะแรกมักไม่มีอาการแสดง อาจตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบเม็ดเลือดในปัสสาวะ แต่เมื่อมีอาการเกิดขึ้น
อาการที่พบได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คือ
• ปัสสาวะเป็นเลือด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ 75-90% จะมาพบแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะเป็นเลือด (มักเป็นสีแดงอ่อนหรือสีโค๊ก ) มักจะเป็น ๆ หาย ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย หรือบางรายอาจมีเพียงอาการเลือดหยดออกมาตอนปัสสาวะสุด
• บางครั้งอาจมีอาการคล้ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (พบได้ประมาณ 20%) คือ ปัสสาวะบ่อย แสบ หรือขัดเนื่องจากเลือดที่ออกมาจับเป็นลิ่มในกระเพาะปัสสาวะ
• ในระยะลุกลาม ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจคลำได้ก้อนที่บริเวณหัวหน่าว และมีอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะซีด, ปวดหลัง หรือเกิดโรคไตเรื้อรัง หรือภาวะไตวาย ซึ่งเกิดจากการลุกลามของโรคมะเร็งไปอุดตันท่อไต, เกิดอาการท้องผูกเมื่อก้อนมะเร็งไปกดเบียดทับลำไส้ใหญ่, คลำต่อมน้ำเหลืองได้ที่ขาหนีบหรือเหนือไหปลาร้า เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง, มีอาการไอ หายใจลำบาก เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่ปอด, มีอาการปวดกระดูก เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่กระดูก เป็นต้น
การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะตามระยะของโรค
• ระยะที่ 0-1 การรักษาอาจทำโดยการผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะ (Transurethral resection) และใช้ยาเคมีบำบัดใส่เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ (Intravesical chemotherapy) ทันทีหลังการผ่าตัด, การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกบางส่วน (Partial cystectomy), การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด (Radical cystectomy)
• ระยะที่ 2-3 การรักษาอาจทำโดยการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด, การให้ยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกัน (Combination chemotherapy) แล้วตามด้วยการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด, การฉายรังสีรักษาจากภายนอกเพียงอย่างเดียว (External radiation therapy) หรือร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy), การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกบางส่วนเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด, การผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะ
• ระยะที่ 4 ถ้ามะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย การรักษาอาจทำโดยการให้ยาเคมีบำบัดเป็นหลัก, การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมดแล้วตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัด, การฉายรังสีรักษาจากภายนอกเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด, การผ่าตัดทำทางเดินปัสสาวะใหม่ (Urinary diversion) เพื่อบรรเทาอาการและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ส่วนในรายที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายแล้ว เช่น ปอด ตับ หรือกระดูก การรักษาจะมีทั้งการให้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับการรักษาเฉพาะที่ (การผ่าตัดหรือการฉายรังสี), การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy), การฉายรังสีรักษาจากภายนอกเพื่อบรรเทาอาการและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย, การผ่าตัดทำทางเดินปัสสาวะใหม่เพื่อบรรเทาอาการและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น