การ รักษามะเร็ง ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา คือใช้ยาเคมีบำบัด อันเป็นวิธีที่คุ้นเคยกันมานานกว่า 60 ปี ยาเคมีบำบัดทำงานโดยการฆ่าเซลล์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างไม่จำเพาะเจาะจงทั้งเซลล์ร่างกายปกติและเซลล์มะเร็ง ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่ายาเคมีบำบัดรุ่นใหม่ๆจะได้ถูกวิจัยและผลิตขึ้นมา ให้มีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยลงกว่ายาเคมีบำบัดรุ่นแรกๆ จนอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้แล้วก็ตาม

หลักการ รักษามะเร็ง ด้วยยามะเร็งแบบมุ่งเป้า หรือ Targeted therapy

ยามะเร็งมุ่งเป้านั้นมีความแตกต่างกับยาเคมีบำบัด กล่าวคือมีความจำเพาะเจาะจงในการหยุดหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเพียงอย่างเดียว โดยส่งผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายเพียงเล็กน้อย

Sick14

การเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

การเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งนั้นนอกจากต้องอาศัยอาหารแล้ว ยังต้องมีสารเคมีที่จำเพาะเจาะจง ที่ส่งสัญญาณให้เซลล์มะเร็งสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้โดยไม่ตายเหมือนเซลล์ปกติ สารเคมีนี้อาจเรียกว่า โมเลกุลสัญญาณ (Signal molecule) โดยโมเลกุลสัญญาณที่จำเพาะต่อมะเร็งแต่ละชนิดนั้นถูกสร้างมาจากสารพันธุกรรมมะเร็ง (Oncogene) ในเซลล์ปกติของเรานั่นเอง เพียงแต่ในภาวะปกติ สารพันธุกรรมมะเร็งนี้จะไม่ทำงานเพราะร่างกายจะมีกลไกบางอย่างกดการทำงานของมันอยู่ แต่เมื่อใดที่ร่างกายเกิดความผิดปกติ ทำให้กลไกนี้สูญเสียไป ส่งผลให้สารพันธุกรรมมะเร็งสามารถทำงานได้ เซลล์ปกติของร่างกายก็จะมีการผลิตโมเลกุลสัญญาณมะเร็งออกมา และเซลล์มะเร็งจะถูกกระตุ้นให้เจริญเติบโต ไม่ตาย กลายเป็นก้อนมะเร็งตามลำดับ

sick10

ยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า

จะทำการขัดขวางการทำงานของโมเลกุลสัญญาณมะเร็ง โดยอาจทำการจับโมเลกุลสัญญาณมะเร็งโดยตรงเพื่อให้มันหยุดการทำงานไม่สามารถกระตุ้นเซลล์มะเร็งได้ หรือปิดกั้นผิวเซลล์มะเร็งเป้าหมาย ไม่ให้โมเลกุลสัญญาณมะเร็งเข้าไปในเซลล์มะเร็งเพื่อสั่งการตามปกติ ทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตช้าลงหรือหยุดลง

เนื่องจากยามะเร็งแบบมุ่งเป้านั้นมีความจำเพาะต่อโมเลกุลสัญญาณมะเร็งที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดมะเร็ง รวมทั้งมะเร็งชนิดเดียวกันยังอาจมีโมเลกุลสัญญาณมะเร็งหลายแบบ แพทย์จึงต้องทำการตรวจเลือดหรือตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งของบุคคลนั้นๆ เพื่อดูชนิดของโมเลกุลสัญญาณมะเร็งของผู้ป่วยว่ามีหรือไม่และเป็นแบบใด เพื่อเลือกใช้ยามะเร็งแบบมุ่งเป้าให้เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้น หากตรวจไม่พบโมเลกุลสัญญาณมะเร็งดังกล่าว ก็จะไม่สามารถให้ยามะเร็งแบบมุ่งเป้าแก่ผู้ป่วยรายนั้นได้

Sick12 (2)

รูปแบบของยามะเร็งแบบมุ่งเป้า

  • มีทั้งแบบยาเม็ดใช้รับประทาน
  • ให้ทางเส้นเลือด

ซึ่งการรักษาด้วยยากลุ่มนี้อาจจะเป็นการรักษาด้วยยากลุ่มนี้เพียงอย่างเดียว หรือร่วมกับการรักษาแบบอื่นเช่น ยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา เป็นต้น

ผลข้างเคียงของยามะเร็งแบบมุ่งเป้า

โดยทั่วไปมีน้อยกว่ายาเคมีบำบัดอย่างมาก และแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ผู้ป่วยใช้ ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่

  • อาการทางผิวหนังเช่น ลมพิษ อาการคันผิวหนังปฏิกิริยาภูมิแพ้ตับอักเสบ
  • ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้และอาเจียน
  • อาการอ่อนเพลีย
  • จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • ความดันโลหิตสูงเป็นต้น

ซึ่งโดยทั่วไปผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้น ไม่รุนแรงและสามารถแก้ไขได้

 

นพ.ประสาร ขจรรัตนเดช

อายุรแพทย์โรคมะเร็ง

ศูนย์มะเร็งตรงเป้า – โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

โทรศัพท์ : 093-328-5561
หรือ : 02-115-2111 ต่อ 1169, 1170
แผนที่ : Google / รูปแผนที่ / เส้นทางเดินทาง
Facebook : HIFUCHULARAT
Line : hifu9000