มะเร็งหลังโพรงจมูก คือ มะเร็งที่เกิดในบริเวณด้านหลังโพรงจมูก ซึ่งอยู่บริเวณหลังจมูกเหนือเพดานอ่อน โดยในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ หรือหากมีอาการก็อาจคล้ายกับโรคอื่นจนทำให้สังเกตได้ยาก

ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ แต่มักพบได้มากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย

มะเร็งชนิดนี้พบบ่อยในแถบเอเชีย เช่น ประเทศไทย จีน เกาหลี เป็นต้น แต่พบไม่บ่อยในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ซึ่งมะเร็งหลังโพรงจมูกที่เกิดในแถบเอเชียนี้มักจะพบได้ในกลุ่มคนที่อายุน้อย กลุ่มวัยรุ่น และพบได้ในเพศชาย ส่วนแถบยุโรปและอเมริกานั้นมักจะพบในคนอายุมาก

การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก อาจพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ระดับความรุนแรงของโรค เป้าหมายในการรักษาโรค สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และผลข้างเคียงจากการรักษาที่ผู้ป่วยสามารถรับมือได้ เป็นต้น ซึ่งแพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1. การฉายรังสี

เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งเป็นการรักษาหลักของโรคนี้ เนื่องจากได้ผลค่อนข้างดี ซึ่งหากผู้ป่วยมีเนื้องอกหลังโพรงจมูกขนาดเล็กก็อาจรักษาได้ด้วยการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ผิวแดงชั่วคราว เสียงแหบ ปากแห้ง เป็นต้น และในบางกรณีที่เข้ารับการฉายรังสีควบคู่ไปกับการทำเคมีบำบัด ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บคอและเจ็บภายในช่องปากอย่างรุนแรง จนบางครั้งอาจทำให้ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้ลำบาก ซึ่งอาจต้องใส่สายให้อาหารผ่านเข้าไปยังระบบทางเดินอาหารจนกว่าอาการจะดีขึ้น เมื่อการฉายรังสีเสร็จสิ้นลง ผลข้างเคียงดังกล่าวอาจหายไป แต่อาการบางอย่างก็อาจไม่ดีขึ้นแม้เวลาจะผ่านไป เช่น มีปัญหาทางการได้ยินเนื่องจากเส้นประสาทถูกทำลาย ได้รับความเสียหายบริเวณกระดูก กะโหลกศีรษะ และต่อมน้ำลาย หรืออาจมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน เป็นต้น

รักษาโดยใช้การฉายแสง (Radiation) ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
การดำเนินโรคของมะเร็งหลังโพรงจมูก หากเป็นระยะแรกจะค่อนข้างดี โอกาสหายขาดสูงมาก เช่น ในระยะที่ 1 และ 2 หากรักษาถูกต้องตามขั้นตอน โอกาสหายสูงถึง 80 – 90% หากเป็นระยะที่ 3 หรือ 4 โอกาสหายลดลงเหลือ 50 – 60%

2. การผ่าตัด

ในกรณีที่สามารถควบคุมเซลล์มะเร็งหลังโพรงจมูกได้แล้ว แต่ยังคงมีก้อนที่คออยู่ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีมะเร็งเกิดซ้ำหรือหลงเหลือเซลล์มะเร็งในบริเวณที่จำกัด กรณีแบบนี้จะสามารถทำการผ่าตัดรักษาได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย รวมไปถึงการวินิจฉัยและการพิจารณาแนวทางการรักษาจากแพทย์ด้วย

3. การทำเคมีบำบัด

เป็นการใช้ยาแบบเม็ดหรือยาแบบฉีดเข้าทางหลอดเลือดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งบางครั้งอาจใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน หรืออาจนำไปใช้ร่วมกับการฉายรังสีเพื่อให้การฉายรังสีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อาจนำมาใช้เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่จากการฉายรังสี รวมทั้งอาจนำไปใช้กับผู้ป่วยที่มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอย่างปอด กระดูก หรือตับด้วย โดยผลข้างเคียงที่เกิดจากการทำเคมีบำบัดขึ้นอยู่กับชนิดของยา ปริมาณยาที่ใช้รักษา และระยะเวลาในการใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียง เช่น ผมร่วง เจ็บปาก อาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสีย เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพราะมีเม็ดเลือดขาวต่ำ มีแผลฟกช้ำหรือมีเลือดออกง่าย อ่อนเพลียเพราะเม็ดเลือดแดงน้อย เป็นต้น แต่อาการเหล่านี้มักหายไปหลังจากทำเคมีบำบัดเสร็จสิ้น

4. การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง

เป็นการรักษาโดยใช้ยาหรือสารเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งแบบจำเพาะ โดยต่างจากการทำเคมีบำบัดหรือคีโมที่ตัวยาจะมีผลทำลายเซลล์ทั่วไปที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็งด้วย ซึ่งยาแต่ละชนิดจะให้ผลข้างเคียงแตกต่างกัน วิธีการรักษานี้อาจนำไปใช้ร่วมกับการฉายรังสีหรือการทำเคมีบำบัดด้วยเช่นกัน

5. กลุ่มยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

เป็นการรักษาโดยใช้ยาออกฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง คือการใช้ยาที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็งได้ อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ PD-1 เป็นโปรตีนจุดตรวจบนเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า “ ทีเซลล์ ”เมื่อ PD-1 ยึดติดกับ PD-L1 ซึ่งเป็นโปรตีนบนเซลล์อื่นๆ ในร่างกาย มันจะทำหน้าที่เป็น “สวิตช์ปิด”

เซลล์มะเร็งบางชนิดมี PD-L1 จำนวนมาก ซึ่งช่วยให้เซลล์เหล่านี้ซ่อนตัวจากการโจมตีของภูมิคุ้มกัน ยาที่มีเป้าหมายทั้ง PD-1 หรือ PD-L1 สามารถป้องกันการผูกมัดนี้และเพิ่มการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อเซลล์มะเร็ง