มะเร็งลำไส้ระยะแพร่กระจาย สามารถรักษาได้ การหายขาดเป็นเรื่องที่ทำได้อยู่แล้ว โดยหากเจอในระยะที่ 1 – 2 ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายขาด แต่ระยะที่ 3 ต้องดูว่าการลุกลามไปถึงขั้นไหน ซึ่งสามารถหายขาดได้เช่นเดียวกัน

มะเร็งลำไส้แบ่งเป็นกี่ระยะ

โดยทั่วไปแล้วมะเร็งลำไส้จะแบ่งเป็น 4 ระยะด้วยกัน ได้แก่

  • ระยะที่ 1 มะเร็งที่จำกัดอยู่ภายในของผนังลำไส้
  • ระยะที่ 2 เกิดการลุกลามออกนอกผนังลำไส้ใหญ่ในบริเวณใกล้เคียง
  • ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามออกไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง
  • ระยะที่ 4 มีการลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงต่างๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ตับ เป็นต้น

การรักษามะเร็งลำไส้มีวิธีใดบ้าง (จะทำการรักษาตามระยะของโรค)

  • การผ่าตัด คือการรักษาหลักที่ดีที่สุดของมะเร็งลำไส้ การผ่าตัดสามารถทำได้ในทุกระยะของโรค นั่นก็คือนำลำไส้ส่วนที่เป็นโรค และต่อมน้ำเหลืองออกไป ในบางครั้งถ้าเป็นมะเร็งที่ลุกลามมาก หรือมะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ติดอยู่กับทวารหนัก การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นต้องทำทวารเทียม โดยการเอาปลายลำไส้ส่วนที่เหลืออยู่เปิดออกทางหน้าท้องเป็นทางให้อุจจาระออก
  • รังสีรักษา เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด อาจฉายรังสีก่อน หรือหลังการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เป็นรายๆไป โดยแพทย์จะประเมินจากลักษณะการลุกลามของก้อนมะเร็ง และโอกาสการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง โดยทั่วไป การฉายรังสีรักษามักใช้ระยะเวลาประมาณ 5 – 6 สัปดาห์ด้วยกัน โดยจะฉายวันละ 1 ครั้ง ฉายติดต่อกัน 5 วัน ใน 1 สัปดาห์นั่นเอง
  • เคมีบำบัด เป็นการให้ยาสารเคมี ซึ่งอาจให้ก่อนการผ่าตัด และ/หรือ หลังผ่าตัด ร่วมกับรังสีรักษาหรือไม่ก็ได้ การใช้เคมีบำบัดก็จะขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ไม่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆไป
  • การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง อาจจะเอาชิ้นเนื้อ หรือเลือดไปตรวจดูยีนกลายพันธุ์ในเซลล์มะเร็งได้ เพื่อใช้เป็นยามุ่งเป้า (ยาทาเก็ต) ไปที่เซลล์มะเร็งโดยเฉพาะเลยก็ได้ ซึ่งถ้ามีโอกาสได้ใช้ยามุ่งเป้า (ยาทาเก็ต) นี้ การตอบสนองในการรักษาก็จะประมาณ 60 – 70 % หรือคนไข้บางราย อาจเลือกเป็นเรื่องของการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดก็ได้

 

ซึ่งในบางครั้งหลายคนมองว่าถ้าป่วยในระยะที่ 4 (ระยะแพร่กระจาย) ไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ เพราะคงไม่มีอะไรดีขึ้น แต่! มุมมองนั้นอาจไม่ถูกต้องเท่าไหร่ เพราะว่าถ้าผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง และยังสามารถรักษาได้ ในด้านของการให้ยาเคมีร่วมกับการใช้ยามุ่งเป้าก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการทุเลาลง หรือมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้ ร่วมกับการลดขนาดก้อนที่กระจายไปยังปอด หรือตับด้วยวิธีการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ (RFA) ในรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้