มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สูงที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง มีอุบัติการณ์อยู่ที่ประมาณ 9%ของของการวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในแต่ละปี โดยพบในผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีประมาณ 17% ในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด

1. การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 – 30 เท่า
2. อายุที่สูงขึ้น ผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป แต่ก็สามารถพบมะเร็งปอดในคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปีได้เช่นกัน
3. การสัมผัสสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อม เช่น แร่ใยหิน(แอสเบสตอส) ควันบุหรี่มือสอง ก๊าซเรดอน สารหนู และสารเคมีอื่นๆ เช่นฝุ่นและไอระเหยจาก นิกเกิล โครเมียมและโลหะอื่นๆ หรือการสัมผัสสารยูเรเนียม
4. การรักษาด้วยการฉายแสงที่ทรวงอก เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นโรค Hodgkin lymphoma หรือผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านม
5. บุคคลที่มีสมาชิกในครอบครัวอันได้แก่ พ่อ แม่ พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอด

มะเร็งปอด

ประเภทของ มะเร็งปอด

แบ่งเป็นสองประเภทได้แก่

1. มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (NSCLC: Non-Small Cell Lung Cancer)
มะเร็งปอดประเภทนี้เป็นมะเร็งปอดชนิดที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งคิดเป็นประมาณ 85%ของผู้ป่วย เซลล์มะเร็งชนิดนี้จะแพร่กระจายได้ช้ากว่า เซลล์มะเร็งปอดประเภทที่ 2
มะเร็งปอดประเภทนี้ยังแบ่งได้อีกเป็นหลายชนิด ได้แก่

1.1 มะเร็งปอดของเซลล์ต่อมสร้างเมือกในเยื่อบุหลอดลม ที่พบประมาณ 40% มะเร็งปอดชนิดนี้ได้รับการวินิจฉัยมากที่สุดในผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบัน แต่ก็สามารถพบได้ในผู้ไม่สูบบุหรี่เช่นกัน
1.2 มะเร็งปอดชนิด squamous cell ซึ่งมักเกิดขึ้นในทางเดินหายใจส่วนต้นของปอด
1.3 มะเร็งปอดชนิดเซลล์ใหญ่ มักปรากฏในลักษณะของเซลล์ที่ไม่มีวิวัฒนาการ (undifferentiated) และสามารถเกิดขึ้นในส่วนใดส่วนหนึ่งของปอดก็ได้โดยไม่แสดงลักษณะตำแหน่งที่จำเพาะ

2. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (SCLC: Small Cell Lung Cancer)
มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กมักจะเกิดขึ้นในส่วนกลางของหลอดลมและแพร่กระจายได้เร็วกว่ามะเร็งปอดที่ไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว พบได้ประมาณ 15% ของมะเร็งปอดทั้งหมด

อาการมะเร็งปอด

อาการนำที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ มีได้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ หายใจถี่และหายใจไม่ออก การมีเสียงแหบ อาการเจ็บหน้าอก ไอมีเสมหะเป็นเลือด ไอเรื้อรัง น้ำหนักลดหาสาเหตุไม่ได้ หรือมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรง เป็นต้น

การวินิจฉัยโรค มะเร็งปอด

 

มะเร็งปอด

จำเป็นต้องใช้การตรวจหลายรูปแบบผสมผสานกัน ได้แก่

  • ภาพถ่ายเอ็กซเรย์ปอด ซึ่งจะสามารถแสดงเนื้องอกขนาดใหญ่ได้
  • เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด (CT scan) ซึ่งใช้ลำแสง X-ray เพื่อถ่ายภาพภายในร่างกาย และสร้างภาพตัดขวาง การตรวจวิธีนี้ สามารถตรวจพบเนื้องอกขนาดเล็ก รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้องอกและต่อมน้ำเหลือง
  • การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI: Magnetic Resonance Imaging)
  • การตรวจด้วยเครื่องPET scan (Positron Emission Tomography scan) ใช้ในการวินิจฉัยระยะของมะเร็งปอดได้ดีที่สุด
  • การทดสอบการทำงานของปอดที่เรียกว่า spirometry เพื่อตรวจสอบว่าปอดทำงานได้ดีเพียงใดก่อนทำการรักษา
  • การตรวจชิ้นเนื้อในปอด เป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่สุด ทั้งเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด และบอกชนิดของเซลล์มะเร็ง เช่น การใช้เข็มขนาดเล็กตัดชิ้นเนื้อ (Fine-needle aspiration) การส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม (Bronchoscopy) การใช้เข็มเจาะเยื่อหุ้มปอดแทงผ่านผนังทรวงอก (Thoracentesis) การตรวจช่องกลางทรวงอกโดยการส่องกล้อง (Mediastinoscopy) หรือการตรวจช่องทรวงอกโดยการส่องกล้อง (Thorocoscopy)
  • การตรวจระดับโมเลกุลและยีนของมะเร็งปอด (Gene testing) เพื่อบอกแนวโน้มการพยากรณ์โรค และใช้วางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

การรักษาโรคมะเร็งปอด

ขึ้นอยู่กับประเภทของมะเร็งปอด ระยะของโรค รวมถึงสุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย
1. การรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (NSCLC) ประกอบด้วยสามวิธี ได้แก่

  • การผ่าตัด
  • การฉายรังสีรักษา
  •  การใช้ยา ซึ่งประกอบด้วยยาเคมีบำบัด ยาภูมิคุ้มกันบำบัด ยามะเร็งแบบมุ่งเป้า

ยามะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) เป็นยารักษามะเร็งกลุ่มใหม่ที่มุ่งทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งที่เป็นเป้าหมายของยา เป็นการรักษาเฉพาะบุคคลที่มีการกลายพันธุ์ของก้อนมะเร็ง ที่มีรูปแบบเฉพาะในเซลล์มะเร็ง ดังนั้นการใช้ยามะเร็งแบบมุ่งเป้าจึงเป็นการรักษาเฉพาะตัวของผู้ป่วยรายนั้น ซึ่งอาจไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยรายอื่นแม้จะเป็นโรคมะเร็งและมีเซลล์มะเร็งประเภทเดียวกันก็ตาม

การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการใช้ยารักษารูปแบบใหม่ล่าสุด เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถจดจำและทำลายเซลล์มะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันของตนเอง สามารถใช้ในการรักษาโรคมะเร็งปอดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก(NSCLC)บางกลุ่มอย่างได้ผลดี แต่ก็ยังไม่สามารถให้ผลที่ดีกับผู้ป่วยทุกราย ในการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจพิเศษเพื่อดูแนวโน้มของมะเร็งปอดเฉพาะในบุคคลนั้นๆ ว่าจะมีโอกาสใช้ได้ผลหรือไม่

มะเร็งปอด

2. การรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก(SCLC)นั้น การผ่าตัดไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญ การรักษาหลักๆสำหรับมะเร็งปอดเซลล์เล็ก ๆ คือยาเคมีบำบัด และการรักษาด้วยรังสีรักษาที่ใช้ในการรักษามะเร็งชนิดนี้ระยะ I-III ได้
นอกจากนี้ การดูแลรักษาแบบประคับประคองก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไข้ทุกคน เป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น โดยการลดอาการของโรคมะเร็งต่างๆ เช่นความเจ็บปวด อาการเหนื่อย ไข้และอาการคลื่นไส้ เป็นต้น

การคัดกรองโรค มะเร็งปอด

การตรวจเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ปอดด้วยรังสีขนาดต่ำ (Low-dose CT: LDCT) เป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดประจำปี โดยพิจารณาเป็นรายบุคคลได้สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด อันได้แก่

  • ผู้มีอายุมากกว่า 55 ปีและสูบบุหรี่จัด เช่น 1 ซองต่อวันมานาน 30 ปีขึ้นไป และยังไม่หยุด หรือหยุดมาไม่เกิน 15 ปี
  • ผู้มีอายุมากกว่า 50 ปีและสูบบุหรี่จัดน้อยกว่าข้อ 1 เช่น 1 ซองต่อวันมานาน 20 ปีขึ้นไป และมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น อายุมาก น้ำหนักตัวน้อย มีอาการของโรคถุงลมโป่งพอง และที่สำคัญคือ จำนวนของการสูบบุหรี่ต่อวัน
  •  ผู้ทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด ได้แก่ การสัมผัสกับแร่ใยหิน การสัมผัสกับเรดอน การสัมผัสกับสารจากการประกอบอาชีพเช่นยูเรเนียมโครเมียม นิกเกิล ควันเขม่าน้ำมันดีเซล
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคปอดเรื้อรัง เช่น ปอดเป็นพังผืดหรือถุงลมโป่งพอง

การป้องกันการเกิดมะเร็งปอด

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีที่แน่นอนใดๆ ว่าสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ จากการศึกษาที่ครอบคลุมมากที่สุด เกี่ยวกับสาเหตุ และ ความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดในต่างประเทศนั้น ประเมินว่า 81 % ของมะเร็งปอดในปี 2010 เกิดจากการสูบบุหรี่ ดังนั้นแม้ว่าจะไม่มีวิธีป้องกัน แต่สามารถลดความเสี่ยงได้อย่างมาก โดยไม่สูบบุหรี่ หรือ เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่มือสอง และหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งต่างๆในที่ทำงาน

นพ.ประสาร ขจรรัตนเดช

อายุรแพทย์โรคมะเร็ง

ศูนย์มะเร็งตรงเป้า – โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

โทรศัพท์ : 093-328-5561
หรือ : 02-115-2111 ต่อ 1169, 1170
แผนที่ : Google / รูปแผนที่ / เส้นทางเดินทาง
Facebook : HIFUCHULARAT
Line : hifu9000