มะเร็งปอดแม้จะไม่ได้เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุด แต่ก็เป็นภัยร้ายที่คร่าชีวิตผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุดในแต่ละปี เนื่องจากมะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปอดเมื่ออยู่ในระยะที่ 3 หรือ 4 ไปแล้ว ซึ่งเป็นระยะที่อาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ยากต่อการรักษา ดังนั้นการค้นพบมะเร็งปอดแต่เนิ่นๆจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงทีก่อนที่มะเร็งจะเปลี่ยนระยะและโอกาสรอดชีวิตลดลงไปมาก
จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งปอด
โดยปกติการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดจะใช้วิธีการตรวจเอกซเรย์ ซึ่งสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงถือว่าเพียงพอ ในปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองแบบใหม่ที่เรียกว่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose helical computerized tomography) ซึ่งมีความละเอียดกว่าการตรวจเอกซเรย์ธรรมดา เหมาะกับกลุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่จัด ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับสารพิษ ผู้ที่มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ไม่มีประวัติเป็นโรคมะเร็ง แต่มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่หรือเป็นมะเร็งปอด
การรักษามะเร็งปอดระยะแรกเริ่มทำได้อย่างไร
สำหรับมะเร็งระยะแรกเริ่มหรือระยะที่ 1 ที่มะเร็งยังไม่แพร่กระจาย สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดอย่างเดียว โดยเฉพาะหากผู้ป่วยมีก้อนมะเร็งขนาด 1 ซม.หรือเล็กกว่านั้น อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ( 5 year survival ) สูงถึง 90% และหากภายใน 5 ปี ผู้ป่วยไม่กลับมาเป็นมะเร็งซ้ำอีก ถือว่าหายขาดจากโรค
การผ่าตัดที่ศูนย์มะเร็งตรงเป้าเราสามารถทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง
- การผ่าตัดเปิดช่องทรวงอก (Thoracotomy) โดยแผลผ่าตัดอยู่ทางด้านหลังหรือสีข้าง ค่อนไปทางด้านหลัง ปัจจุบันแพทย์สามารถผ่าตัดให้แผลมีขนาดเล็กลง ตัดกล้ามเนื้อน้อยลงและไม่ได้ตัดซี่โครงเหมือนแต่ก่อน เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและรักษามะเร็งปอด
- การผ่าตัดทรวงอกผ่านการส่องกล้อง (VATS: Video-assisted thoracoscopic surgery) แพทย์จะเจาะรูทางเข้า (Port) ซึ่งมีทั้งแบบ 3 แผล 2 แผลและแผลเดียว แล้วจึงใส่กล้องผ่านเข้าไปทางผนังทรวงอกเพื่อตรวจและรักษามะเร็ง โดยแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กประมาณ 1.5 ซม. และมีแผลเพื่อนำชิ้นเนื้อออกมาขนาด 3-5 ซม. การผ่าตัดทรวงอกผ่านการส่องกล้อง เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดทรวงอกแบบเปิดได้ เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เคยศัลยกรรมหน้าอกมาก่อน