มะเร็งท่อทางเดินน้ำดี สังเกตอาการให้ดี..รู้ตัวอีกทีมักลุกลาม
อาการที่แสดงออกมาคล้ายกับการเป็นนิ่วในถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดี ซึ่งจะมีอาการที่พบได้บ่อย ๆ จากโรค ดังนี้ มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดบริเวณใต้ชายโครงฝั่งขวา ( บริเวณตำแหน่งของท่อน้ำดี ) แบบเรื้อรัง มีอาการตัวและตาเหลือง คันทั่วตัว ปัสสาวะมีสีเข้ม และอุจจาระมีสีซีดซึ่งเป็นสาเหตุจาก การอุดตันของท่อน้ำดี
ชนิดของมะเร็งท่อน้ำดี
มะเร็งท่อน้ำดีแบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งเริ่มต้นเกิดขึ้นที่ใด
1. มะเร็งเริ่มต้นขึ้นที่ส่วนของท่อน้ำดีที่อยู่ภายในตับ หรือเรียกว่า intrahepatic bile duct cancer (มะเร็งท่อน้ำดีภายในตับ) เกิดจากเซลล์ของเยื่อบุท่อน้ำดีในตับและขยายออกสู่เนื้อตับข้างๆ ทำให้มีลักษณะคล้ายมะเร็งตับ จึงเป็นโรคที่มักถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็นมะเร็งตับ
2. มะเร็งเริ่มต้นขึ้นที่ส่วนของท่อน้ำดีนอกตับ หรือเรียกว่า extrahepatic bile duct cancer (มะเร็งท่อน้ำดีภายนอกตับ) เกิดที่ท่อน้ำดีใหญ่ตั้งแต่ขั้วตับจนถึงท่อน้ำดีร่วมส่วนปลาย มะเร็งชนิดนี้ทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำดี ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง
ระยะของมะเร็งท่อน้ำดี แบ่งเป็น 4 ระยะตามอาการที่พบ
ระยะที่ 1 เชื้อก้อนมะเร็งเกิดขึ้นในท่อน้ำดี ยังไม่ลุกลามไปอวัยวะใกล้เคียงอื่นๆ
ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งเริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงท่อน้ำดี
ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งลุกลามเข้าไปถึงถุงน้ำดี และอวัยวะข้างเคียง เส้นเลือดแดง หรือต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงท่อน้ำดี
ระยะที่ 4 อาการมะเร็งท่อน้ำดีระยะสุดท้าย โรคมะเร็งจะแพร่กระจายเข้าช่องท้องหรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป หรือเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่นๆที่อยู่ไกลออกไป อวัยวะที่พบได้บ่อยๆคือ ปอดและตับ
มะเร็งท่อน้ำดี เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงของโรคสูง เนื่องจากกว่าจะตรวจพบโรคได้ อาการก็มักลุกลามแพร่กระจายเชื้อไปทั่วแล้ว แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยก็มีโอกาสรักษาให้หายได้โดยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น ระยะของโรคที่เป็น ความสามารถในการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออก รวมถึงอายุและสุขภาพของผู้ป่วยด้วย
ในปัจจุบัน ผู้ป่วยจะมีส่วนร่วมในการรักษามะเร็งได้มากกว่าที่ผ่านมา โดยแพทย์และผู้ป่วยจะร่วมกันออกแบบวิธีการรักษาที่ดีที่สุด เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมไปตามอาการร่วมกัน สาเหตุหลักๆ อาจเป็นเพราะทุกวันนี้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น ตลอดจนการตัดสินใจรักษาก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ป่วย ฉะนั้น หากเกิดการร่วมมือกันของทั้งสองฝ่าย ผลข้างเคียงของการรักษาก็จะอยู่ในระดับที่ผู้ป่วยรับได้ อีกทั้งอาจเป็นประโยชน์ที่จะแบ่งการรักษาออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
ซึ่งการรักษาเฉพาะที่นั้น เป็นการรักษาเฉพาะตำแหน่งที่มะเร็งเกิด รักษาได้ด้วยการฉายรังสี ผ่าตัด หรือทำลายก้อนเฉพาะที่ จี้ไฟฟ้า จี้คลื่นไมโครเวฟ
ซึ่งการรักษาในทุกส่วนนั้นก็เพื่อกำจัดตัวมะเร็งไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของร่างกาย การรักษาอาจทำได้โดยเคมีบำบัด, การใช้ยาที่จำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง และการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด การตรวจยีน หรือโมเลกุลสารพันธุกรรมมะเร็งนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการช่วยตัดสินใจเลือกใช้ยา เพื่อการตอบสนองต่อโรคที่ดียิ่งขึ้น