มะเร็งต่อมน้ำลาย   มะเร็งต่อมน้ำลายเป็นโรคที่เกิดจากการที่เซลล์เนื้อเยื่อต่อมน้ำลายเกิดความผิดปกติในการแบ่งตัว หรือเจริญเติบโตมากผิดปกติ จนเกิดเป็นก้อนเนื้อ โดยต่อมน้ำลายบริเวณหน้ากกหูจะเป็นบริเวณที่พบมะเร็งต่อมน้ำลายได้บ่อย อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมน้ำลายถือเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก โดยอัตราการพบมะเร็งต่อมน้ำลายคือ  1 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งเมื่อเทียบกับมะเร็งบริเวณศีรษะและคอทั้งหมดแล้ว มะเร็งต่อมน้ำลายจัดว่ายังพบได้น้อย และในบางกรณีก้อนเนื้อที่พบอาจเป็นก้อนเนื้อธรรมดา หรือเป็นสัญญาณของโรคอื่นที่ไม่ได้เป็นผลมาจากโรคมะเร็งได้เช่นกัน

  • ต่อมน้ำลายหน้าหู(Parotid gland) ซึ่งเป็นต่อมน้ำลายที่ใหญ่ที่สุด มีโอกาสเป็นมะเร็ง 25%
  • ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร (Submandibular gland) มีโอกาสเป็นมะเร็ง 50%
  • ต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (Sublingual gland) มีโอกาสเป็นมะเร็งมากที่สุดคือประมาณ 75%

 

อาการของ มะเร็งต่อมน้ำลาย

โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำลายมักจะพบอาการผิดปกติบางอย่าง ดังนี้

  • พบก้อนเนื้อบริเวณแก้มหน้ากกหูหรือภายในช่องปาก
  • รู้สึกปวดแบบเรื้อรังบริเวณปาก ขากรรไกร แก้ม หรือหน้าหู
  • รู้สึกชาหรืออ่อนแรงที่กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง
  • ใบหน้าหรือลำคอทั้งสองข้างมีขนาดหรือรูปร่างไม่สมดุลกันอย่างเห็นได้ชัด
  • ขยับกล้ามเนื้อใบหน้าลำบากหรือรู้สึกว่าอ้าปากได้ไม่สุด
  • มีของเหลวไหลออกมาจากหู
  • กลืนอาหารลำบาก

 

สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำลาย

ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำลาย แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น

  • อายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 55 ปีขึ้นไป และมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
  • มีประวัติการได้รับรังสีรักษา (Radiation Therapy) บริเวณศีรษะหรือลำคอมาก่อน
  • ทำอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับโลหะหนักหรือแร่ธาตุบางชนิดเข้าสู่ร่างกายเป็นระยะเวลานาน เช่น ผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ผู้ที่ทำงานในโรงงานที่เกี่ยวกับยาง ช่างประปา หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับงานไม้

นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมน้ำลายยังอาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่ หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ

 

การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำลาย

การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำลายในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติและอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจหาก้อนเนื้อบริเวณใบหน้า ช่องปาก ขากรรไกร และหูของผู้ป่วย

จากนั้นแพทย์อาจใช้วิธีตรวจอื่น ๆ เพื่อผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ เช่น

  • การวินิจฉัยด้วยภาพ เช่น การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) บริเวณปากและขากรรไกร เพื่อตรวจดูสิ่งผิดปกติต่าง ๆ รวมถึงตรวจหาตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อ
  • การส่องกล้องเข้าไปในร่างกายบริเวณช่องปาก คอ และกล่องเสียง เพื่อตรวจหาก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติ
  • การตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณก้อนเนื้อไปตรวจ เพื่อตรวจหาเซลล์ที่มีความผิดปกติ

หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำลาย แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูความรุนแรงรวมถึงการลุกลามของมะเร็ง และนำไปใช้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนระยะของโรค

มะเร็งต่อมน้ำลายเป็นมะเร็งที่ไม่ค่อยมีการแพร่กระจายตามกระแสโลหิต ( แต่ถ้ามีมักจะกระจายไปที่ปอด ) ส่วนใหญ่จะเป็นการลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง และไปต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอ มะเร็งต่อมน้ำลาย แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่

– ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังลุกลามอยู่เฉพาะในต่อมน้ำลาย

– ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งขนาดโตขึ้น แต่ยังลุกลามอยู่เฉพาะในต่อมน้ำลาย

– ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งขนาดโตมาก และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง และ/หรือลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองที่คอ แต่ขนาดต่อมน้ำเหลือยังเล็กอยู่

– ระยะที่ 4 โรคลุกลามและยึดติดกับอวัยวะข้างเคียง และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่คอ และต่อมน้ำเหลืองมีขนาดโต หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองหลายต่อม และ/หรือ มีการแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด

ความรุนแรงของมะเร็งต่อมน้ำลาย

– ระยะของโรค ระยะยิ่งสูงขึ้น ความรุนแรงก็มากขึ้น

– ชนิดของเซลล์มะเร็ง

– การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ถ้ามีการแบ่งตัวสูง ความรุนแรงของโรคก็สูงขึ้น

– การที่สามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้หมด จะควบคุมโรคได้ดีกว่าการผ่าตัดไม่ได้หรือผ่าตัดออกได้เพียงบางส่วน

 

การรักษามะเร็งต่อมน้ำลาย

แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดเป็นหลักในการรักษามะเร็งต่อมน้ำลาย โดยแพทย์อาจผ่าตัดเฉพาะก้อนเนื้อมะเร็งออกไป หรืออาจผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกร่วมกับผ่าตัดต่อมน้ำลายหรืออวัยวะบริเวณใกล้เคียงออกร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความเสี่ยงในการลุกลามของก้อนมะเร็ง

ภายหลังการผ่าตัด แพทย์อาจให้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อและบรรเทาอาการปวด รวมถึงอาจนัดผู้ป่วยเพื่อผ่าตัดตกแต่งแผลเพิ่มเติม โดยแพทย์อาจผ่าตัดนำผิวหนังหรือเนื้อเยื่อจากบริเวณอื่นของร่างกายมาตกแต่งบริเวณแผล ช่วยให้แผลฟื้นฟูและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ปากและใบหน้าในการพูด เคี้ยวอาหาร กลืน และหายใจได้สะดวกขึ้น

นอกจากการผ่าตัด แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ ร่วมกับการผ่าตัดด้วยเพื่อช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง ทั้งนี้ วิธีที่เลือกใช้จะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน โดยวิธีการรักษาที่แพทย์มักใช้คือการใช้รังสีรักษาหรือการทำเคมีบำบัด (Chemotherapy)

 

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งต่อมน้ำลาย

หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำลายอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ โดยก้อนเนื้อมะเร็งอาจลุกลามหรือมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อาการของโรคส่งผลกระทบต่อการพูด การกลืน การหายใจ และการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ เซลล์มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะหรือบริเวณอื่นของร่างกาย

การป้องกันมะเร็งต่อมน้ำลาย

การป้องกันมะเร็งต่อมน้ำลายทำได้ยาก เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ในเบื้องต้นอาจลดความเสี่ยงได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน

 

 

ศูนย์มะเร็งตรงเป้า – โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

บริษัท คอนวีเนียนซ์ ฮอสพิทอล จำกัด
Convenience Hospital Co., Ltd.
90/5 หมู่ 13 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 10540
โทรศัพท์ : 093-328-5561
หรือ : 02-115-2111 ต่อ 1169, 1170
แผนที่ : Google / รูปแผนที่ / เส้นทางเดินทาง
Facebook : HIFUCHULARAT
Line : hifu9000
เว็บไซต์ : รพ.จุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
ไทย | ဗမာစာ