มะเร็งต่อมน้ำเหลือง !! โรคที่มีผู้เสียชีวิตสูง.. ติดอันดับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ทำความรู้จักกับ “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง”
เนื้องอกร้ายที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง ซึ่งก็คือต่อมน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขน ในช่องอก และในช่องท้อง และนอกจากในต่อมน้ำเหลืองแล้ว เซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีกระจายอยู่ในเยื่อบุภายในอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เช่น ในสมอง โพรงจมูก ไซนัส กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ผิวหนัง และกระดูก ซึ่งในอวัยวะเหล่านี้ก็สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น
“มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” มีกี่ชนิด
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน :: พบบ่อยในช่วงอายุ 15 – 34 ปี และมากกว่า 60 ปี พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี มีลักษณะเฉพาะ คือ จะพบเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า “Reed – Sternberg cell” ซึ่งไม่มีในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดอื่นๆ และในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ประมาณ 25,000 คน
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน :: พบได้มากกว่ากลุ่มแรกประมาณ 8 เท่า และมีความรุนแรงของโรคสูงกว่ากลุ่มแรก มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งในกลุ่มนี้มีประมาณ 30 ชนิดย่อย
อัตราการเจริญของเซลล์มะเร็งจะสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด
ชนิดลุกลามช้า จะมีการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งค่อนข้างช้ามากๆ ผู้ป่วยมักจะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่มักจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีการในปัจจุบัน
ชนิดรุนแรง มีอัตราการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 เดือน – 1 ปี แต่มีข้อดี คือ ถ้าหากรักษาได้ทันเวลา มีโอกาสหายขาดเยอะมากทีเดียว
“มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” มีกี่ระยะ
จะแบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ แต่ที่แตกต่างคือจะแบ่งร่างกายออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่เหนือกับส่วนที่อยู่ใต้กระบังลม
ระยะที่ 1 :: เป็นระยะที่โรคมะเร็งเกิดกับต่อมน้ำเหลืองบริเวณเดียว เช่น บริเวณลำคอ หรือบริเวณรักแร้ เพียงด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว
ระยะที่ 2 :: เป็นระยะที่โรคมะเร็งเกิดกับต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 2 บริเวณขึ้นไป เช่น บริเวณลำคอด้านขวา และซ้าย บริเวณลำคอด้านขวากับรักแร้ด้านขวา แต่ทั้งสองบริเวณจะต้องอยู่ด้านกันของกระบังลม เช่น อยู่เหนือกระบังลมทั้งหมด หรืออยู่ใต้กระบังลมทั้งหมด
ระยะที่ 3 :: เป็นระยะที่โรคมะเร็งเกิดกับต่อมน้ำเหลืองทั้งในส่วนเหนือกระบังลม และส่วนใต้กระบังลม เช่น เกิดที่ลำคอร่วมกับขาหนีบ
ระยะที่ 4 :: เป็นระยะที่โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าอวัยวะอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป เช่น ไขกระดูก (พบได้บ่อยในกระดูก) หรือเนื้อเยื่ออวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ และสมอง
รักษาอย่างไรได้บ้าง
ในการเลือกวิธีการรักษาแพทย์จะพิจารณาจากชนิดของมะเร็งและระยะของโรค ซึ่งอาจใช้เพียงวิธีเดียว หรือใช้แบบผสมผสานก็ได้
การเฝ้าติดตามโรค :: โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดลุกลามช้า ซึ่งจะอยู่ในระยะที่ 1 นั่นเอง และยังไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ โดยในระหว่างการเฝ้าติดตามโรคผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด หรือตรวจทางรังสีเป็นระยะๆ
การใช้รังสีรักษา :: ใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยแพทย์จะใช้รักษาเฉพาะในบางระยะของโรค และส่วนใหญ่มักจะให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือให้รังสีรักษาเพียงอย่างเดียว ถ้าเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่ในระยะแรกเริ่ม และเป็นชนิดไม่รุนแรง หรือเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้ เช่น มีปัญหาโรคไตเรื้อรัง (การรักษาแต่ละครั้งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวด และส่วนมากจะใช้เวลาทำน้อยกว่า 30 นาทีในแต่ละครั้ง)
การให้สารภูมิต้านทานกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ :: เป็นการรักษาโดยใช้สารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ในการจับกับโปรตีนบนผิวหนังของเซลล์มะเร็ง หลังจากนั้นจะมีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อมากำจัดเซลล์มะเร็ง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยในการทำลายเซลล์มะเร็งได้
การให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ :: เช่น ยา Prednisolone เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง และยับยั้งการเจริญเติบโตของก้อนมะเร็ง
การให้ยารักษาตรงเป้า :: จะใช้ได้ดีมากๆเฉพาะโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด โดยแพทย์มักใช้รักษาในโรคที่มีความรุนแรงสูง หรือโรคที่ดื้อต่อยาเคมีบำบัด หรือเกิดโรคกลับเป็นซ้ำ
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด :: แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ การปลูกเซลล์ต้นกำเนิดโดยอาศัยเซลล์ของตัวผู้ป่วยเอง และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโดยอาศัยเซลล์ของผู้บริจาค ในปัจจุบันสามารถปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากกระแสเลือดแทนที่จะใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูกนั่นเอง ใช้ได้ผลอย่างดีเฉพาะในเซลล์มะเร็งบางชนิดเมื่อมีโรคที่รุนแรง หรือดื้อต่อยาเคมีบำบัด
การผ่าตัด :: ในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมักทำให้ผู้ป่วยน้อยราย เพราะโรคนี้สามารถรักษาได้ผลดีด้วยยาเคมีบำบัด จึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดอวัยวะที่เกิดโรคมะเร็งนั่นเอง
ศูนย์มะเร็งตรงเป้า – โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
โทรศัพท์ : 093-328-5561
หรือ : 02-115-2111 ต่อ 1169, 1170
แผนที่ : Google / รูปแผนที่ / เส้นทางเดินทาง
Facebook : HIFUCHULARAT
Line : hifu9000