“มองกัญชาให้รอบด้าน” – ศูนย์ มะเร็ง ตรงเป้า
วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2562 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วม สัมมนาสาธารณะ
หัวข้อ “มองกัญชาให้รอบด้าน”
จัดโดย สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ร่วมกับ
ผู้เข้ารับการอบรม หลักสูตร “ผู้บริหารกระบวรการยุติธรรมระดับสูง” รุ่นที่ 23
ที่ ห้องประชุม อายัท อบาโลน คอนเวนชั่ยฮอลล์ หอการค้าไทย-จีน สาทรใต้
วิทยากรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนกฏหมายและการปฏิบัติเพื่อนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ทั้งสิ้น มีข้อสรุปที่น่าสนใจมากมายครับ
1. ฝ่ายกฏหมาย ได้อธิบายถึงหลักการการนำกัญชามาใช้ มี 2 ประเภทคือ หนึ่งเพื่อสันทนาการ และสองเพื่อการแพทย์
เป็นข้อสรุปที่ตรงกันคือ กัญชาจะถูกผลักดันเพื่อใช้ในการแพทย์เท่านั้น
แนวความคิดเรื่องการเปิดเสรีกัญชาเพื่อสันทนาการนั้น มาจากเหตุที่ว่า ในปัจจุบันมีกัญชาทะลักเข้าไทยจากต่างประเทศมาก แต่เป็นกัญชาที่มีสารปนเปื้อนสูง ผู้เสพเกิดผลข้างเคียง และถึงเสียชีวิตได้
แต่อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีกัญชาเพื่อการสันทนาการจำเป็นต้องล้มเลิก เพราะผลกระทบโดยรวมต่อสังคมนั้น ร้ายแรงยิ่งกว่า
มีข้อมูลชัดเจนว่า การเปิดกัญชาเสรี เพื่อสันทนาการ เป็นแนวทางที่ผิด
เพราะจากประสบการณ์ในต่างประเทศที่เปิดเสรีกัญชา เพื่อหวังผลในการลดยาเสพติดร้ายแรงอื่น พบว่า นอกจากไม่ช่วยลดการใช้ยาเสพติดผิดกฏหมายแล้ว กัญชากลับกลายเป็นก้าวแรกของการนำเยาวชนถลำลึกเข้าสู่ยาเสพติดประเภทอื่น อุบัติการณ์การใช้กัญชาสูงขึ้นในเด็กวัยรุ่นอย่างมาก อาชญากรรมสูงขึ้น รวมทั้งอุบัติเหตุที่เกี่ยวพันจากการใช้กัญชาที่มายังห้องฉุกเฉินก็สูงขึ้นเช่นกัน
นอกจากนั้นแนวทางการออกกฏหมายยังมุ่งไปที่การลดการผูกขาดการปลูกกัญชาโดยองค์กรใดองค์หนึ่ง
ดังนั้นในขณะนี้ กัญชายังคงจัดเป็นสารเสพติดประเภทที่ 5 โดยไม่เปลี่ยนแปลง
2. ฝ่ายผลิตกัญชาภาครัฐ จากศูนย์วิทยาการเทคโนโลยีชีวภาพทางเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ได้อธิบายถึงความซับซ้อนของต้นกัญชาอย่างน่าสนใจ
กัญชาเป็นพืชที่ดูดซึมสารพิษจากดินได้ดีมาก จนอาจเรียกว่าสามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขสภาพดินได้เลยทีเดียว ทำให้กัญชาที่ปลูกในพื้นที่ที่มีสารพิษจะปนเปื้อนสารอันตรายอย่างมาก เช่น โลหะหนัก(เช่นตะกั่ว แคดเมี่ยม) สารหนู เป็นต้น และยิ่งสกัดตามวิธีชาวบ้านความเข้มข้นของสารปนเปื้อนก็จะยิ่งสูงขึ้น
กัญชามี 3 สายพันธุ์หลักๆ แบ่งตามภูมิอากาศที่ปลูก
หนึ่ง สายพันธุ์เขตร้อน คือ Cannabis sativa ที่ปลูกได้ใน ไทย อินเดีย โคลอมเบีย จาไมก้า สายพันธุ์นี้ถูกเรียกว่า “ดี” เพราะมีสารที่ทำให้เกิดการเมา คือ สาร “THC” ในสัดส่วนที่สูง คนสูบเลยจัดว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดี
สายพันธุ์นี้มีลำต้นสูง อาจถึง 7 เมตร ใบเยอะ แต่ดอกน้อย เพราะกัญชาจะออกดอกมาก ถ้าช่วงกลางคืนยาวนาน
สอง สายพันธุ์อากาศเย็นคือ Cannabis indica ลำต้นจะเตี้ยกว่า
สาม สายพันธุ์ที่รัสเซีย คือ Cannabis ruderalis
สายพันธุ์ที่สองและสาม จะมีดอกมากกว่า เพราะภูมิประเทศจะมีกลางคืนที่ยาวนาน แต่จะมีสาร THCในสัดส่วนที่ต่ำกว่าสายพันธุ์ที่หนึ่ง
นอกจากนั้นถ้าเพาะกัญชาจากเมล็ด ต้นกัญชาจะเกิดเป็นต้นกัญชา 3 เพศคือ เพศผู้ เพศเมีย และเพศกะเทย(คือออกดอกตัวผู้และตัวเมียในต้นเดียวกัน)
ส่วนประกอบที่นำมาใช้ผลิตยากัญชาคือ “ดอก” และดอกกัญชานั้นต้องเป็น ดอกกัญชาพรหมจรรย์” คือดอกเพศเมียที่ไม่มีเกสรตัวผู้ ดังนั้นในโรงเรือนเพาะ ต้องคัดกัญชาตัวผู้และกะเทยออก ให้เหลือเฉพาะกัญชาตัวเมีย
และเนื่องจากการออกดอกกัญชาสัมพันธ์กับช่วงเวลากลางคืนที่ยาวนาน ภายในโรงเรือนต้องออกแบบปรับแสงให้ต้นกัญชารับแสงในช่วงเวลาที่พอเหมาะ ไม่มากเหมือนภูมิอากาศปกติของประเทศไทย เพื่อให้ได้ปริมาณดอกกัญชาที่มาก
ดังนั้นการเพาะปลูกกัญชาเพื่อ ใช้ในการแพทย์หรือ medical gradeนั้น ไม่ง่าย และถ้าจะปลูกเพื่อส่งออกเป็นพืชเศรษฐกิจยิ่งยาก เพราะขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดรับซื้อกัญชาเพื่อผลิตยาอย่างถูกกฏหมาย
3. ฝ่ายการแพทย์
การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์แบ่งเป็น 2 เป้าหมายคือ หนึ่งเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการ และสองเป็นการรักษาจำเพาะ
กัญชาสามารถรักษา อาการเกร็ง (spasticity) ได้ ไม่ว่าอาการนั้นจะเกิดจากโรคใด และลดอาการปวดจากโรคต่างๆ
ปัญหาในขณะนี้คือ ไม่สามารถกำหนดขนาดการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพราะกัญชายังพึ่งเริ่มเข้าสู่ระบบถูกกฏหมาย ทำให้ไม่มีข้อมูล
4. ฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
มองในเชิงระบบการใช้กัญชาในการรักษา ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ หนึ่งระบบสาธารณสุขตามกฏหมายได้แก่ โรงพยาบาล สถานพยาบาล แพทย์แผนไทย และสองระบบการรักษาตัวเองของประชาชน
ในที่ผ่านมากัญชาถูกใช้ในระบบการรักษาด้วยตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งเป้าหมายคือจะผสานระบบการเข้าถึงยากัญชาจากตัวประชาชนใช้เอง มายังระบบที่ถูกกฏหมาย ซึ่งในขณะนี้ได้ออกอนุบัญญัติมาหลายข้อ เริ่มตั้งแต่นิรโทษกรรมผู้ใช้กัญชาเพื่อการรักษา สามารถครอบครองกัญชาได้ ภายใน90วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ และหลังจากนั้นต้องเข้ามารับกัญชายังสถานพยาบาลต่อไป
ในขณะนี้ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ของกัญชาที่ออกมา ได้แก่
1. ภาวะกล้ามเนื้อเกร็ง (spasticity)
2. Multiple sclerosis
3. อาการปวดแบบ neuropathic pain
4. อาการคลื่นไส้จากการให้ยาเคมีบำบัด
5. โรคทางสมอง เช่น พาร์คินสัน
6. ส่วนโรค มะเร็ง นั้น ยังไม่มีผลแน่นอน
และข้อบ่งชี้อื่นๆ คงจะออกเพิ่มเติมมาเรื่อยๆ
ในทางปฏิบัติ เมื่อยากัญชาเข้าสู่ระบบสาธารณสุข การใช้กัญชาเพื่อการรักษาคงต้องอาศัยกาดูแลร่วมกันระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนไทย และคนไข้ ในการปรับขนาดยาเพื่อการรักษา
5. ฝ่ายเกษตรกร
ในปัจจุบันการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนทำกันมานานแล้ว ในแง่เพื่อการรักษานั้น ได้แก่ หนึ่งใช้ในผู้ป่วย มะเร็ง ระยะสุดท้ายที่บ้าน ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แข็งแรง และเสียชีวิตอย่างไม่ทุกข์ทรมาน และสองใช้เป็นยาช่วยหลับในผู้สูงอายุ
ปัญหาคือ กัญชายังไม่ถูกกฏหมาย การปลูกเองยังต้องหลบๆซ่อนๆ
………………….
ข้อสรุปและแนะนำจากวงเสวนา
ปัญหาของกัญชาประเทศไทยคือ “ปัญหาไม่ใช่กฏหมาย แต่คือการควบคุมกฏหมายทางปฏิบัติ”
โจทย์ข้อใหญ่คือ การก้าวไปอย่างรอบคอบ เพื่อให้กัญชา ใช้ในทางการแพทย์ เพื่อ คุณภาพชีวิตที่ขึ้น และไม่ให้กัญชา หลุดไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ อันจะส่งผลต่อผลเสียทางสังคม และ ลูกหลานในอนาคต
เพราะมีข้อมูลชัดเจนว่าการสูบกัญชาอย่างต่อเนื่องในวัยรุ่น จะส่งผลต่อการพัฒนาสมอง ความจำลดลงอย่างถาวร
ในทางการแพทย์พบว่า คนที่ติดกัญชาเป็นผลจากสังคมรอบข้างไม่ใช่ตัวกัญชาเอง อีกทั้งผู้ที่เกิดผลข้างเคียงจากกัญชานั้น เกิดในผู้ที่มีพันธุกรรมจำเพาะตั้งแต่เกิด แต่อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยไม่สามารถตรวจพันธุกรรมดังกล่าวในผู้ป่วยก่อนใช้กัญชาได้
ในเรื่องการปลูกกัญชาเพื่อใช้รักษาเองนั้น วิทยากรหลายท่านมีความกังวลเรื่องการถูกบุคคลอาศัยในบริเวณใกล้เคียง นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีผู้เสนอว่าเนื่องจากประเทศไทยมีระบบสวัสดิการที่เข้มแข็ง การที่ภาครัฐจะเป็นผู้จัดการผลิต จ่ายยากัญชาหรือสมุนไพรกัญชา”ฟรี” แก่ผู้ป่วย ไม่น่าเป็นสิ่งที่ไกลเกินตัว และถ้าทำได้ตามนี้ ก็ไม่จำเป็นที่ประชาชนต้องปลูกกัญชาเพื่อใช้การรักษาเอง
ในกรณีที่คาดหวังว่าจะนำกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจนั้น อาจไกลตัวและยังไม่เหมาะสมในเวลานี้ มีคำแนะนำที่น่าสนใจว่า ในเวลานี้ถ้าอยากปลูกพืชเศรษฐกิจ ให้ปลูก “กัญชง” แทนจะดีกว่า เพราะกัญชงสามารถปลูกได้อย่างไม่ผิดกฏหมายตามกฏหมายใหม่แล้ว
นพ. กิตติไกร ไกรแก้ว
ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งตรงเป้า
รพ.จุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
#กัญชา #มะเร็ง #cannabis #marijuana
ศูนย์มะเร็งตรงเป้า – โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
โทรศัพท์ : 093-328-5561
หรือ : 02-115-2111 ต่อ 1169, 1170
แผนที่ : Google / รูปแผนที่ / เส้นทางเดินทาง
Facebook : HIFUCHULARAT
Line : hifu9000