มะเร็งเต้านม เกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ปกติในร่างกาย หรือที่เรียกว่าการกลายพันธุ์แบบโซมาติก (Somatic mutation) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคมะเร็ง การกลายพันธุ์แบบนี้ที่เกิดขึ้นในภายหลัง และมีโอกาสสูงขึ้นเมื่อบุคคลนั้นๆมีอายุมากขึ้น เซลล์ที่กลายพันธุ์ไปจะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว หรือตายยากกว่าเซลล์ปกติ จนกลายเป็นก้อนเนื้องอกและมะเร็งในที่สุด การกลายพันธ์แบบโซมาติกจะไม่พบในทุกเซลล์ของร่างกาย และไม่ส่งผ่านจากพ่อแม่สู่ลูก

พันธุกรรมมะเร็งคือ การกลายพันธุ์ของเซลล์ของบุคคลนั้นตั้งแต่ในระยะเซลล์อสุจิหรือเซลล์ไข่ ส่งผ่านโดยตรงจากพ่อแม่ไปยังเด็กตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ เราเรียกการกลายพันธุ์พันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษว่า “พันธุกรรมมะเร็ง” (Germline mutation)

บุคคลที่มีพันธุกรรมมะเร็งที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ตั้งแต่กำเนิดนั้น มีความแตกต่างจากการกลายพันธุ์แบบโซมาติก ดังนี้

  1. ทุกเซลล์ในร่างกายจะมีพันธุกรรมมะเร็งนั้นๆ ซึ่งแตกต่างจากการกลายพันธุ์แบบโซมาติกที่จำกัดอยู่เฉพาะในก้อนมะเร็ง
  2. ผู้ที่มีพันธุกรรมมะเร็ง “ไม่ได้เป็นมะเร็งทันทีตั้งแต่เกิด” กล่าวคือ แม้ว่าทุกเซลล์ทั้งร่างกายจะมีพันธุกรรมมะเร็งแทรกอยู่ก็ตาม เซลล์นั้นๆยังคงเป็นเซลล์ปกติ ทำงานตามปกติเหมือนคนทั่วๆไป
  3. บุคคลที่มีพันธุกรรมมะเร็ง จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดที่สัมพันธ์กับพันธุกรรมมะเร็งนั้นๆ “สูงกว่า” ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนั้นๆของคนปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นต้องเป็นมะเร็งชนิดนั้นๆในอนาคต 100%
มะเร็งเต้านม

พันธุกรรม มะเร็งเต้านม (Germline mutation of breast cancer)

ในปัจจุบันพบว่าพันธุกรรมมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่ ที่สามารถตรวจพบในสารพันธุกรรมที่เรียกว่า “ยีน (gene)” นั้น ยีนที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุดคือ พันธุกรรมมะเร็งเต้านมที่เกิดจากยีน 2 ชนิดคือ ยีน BRCA1 (BReast CAncer 1) และยีน BRCA2 (BReast CAncer2)

ยีน BRCA1 / BRCA2 คืออะไร

ยีน BRCA มี 2 ชนิด ได้แก่ BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกันบนโครโมโซมที่ต่างกัน ยีนทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นยีนต้านมะเร็ง ซึ่งปกติจะมีหน้าที่สร้างโปรตีนที่ช่วยในการซ่อมแซมความผิดปกติของสารพันธุกรรมในเซลที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมชาติเมื่อมีการสร้างเซลใหม่ทดแทนเซลเก่าที่เสียหายไป ดังนั้น เมื่อยีนหนึ่งยีนใดใน 2 ยีนนี้ หรือทั้งคู่ มีความผิดปกติเสียหายเกิดขึ้นเสียเอง ก็ย่อมไม่สามารถที่จะผลิตโปรตีน หรือผลิตได้แต่โปรตีนนั้นอาจทำงานไม่ดีพอ เพื่อที่จะซ่อมแซมความผิดปกติของสารพันธุกรรมในเซล ทำให้ความผิดปกติของสารพันธุกรรมเหล่านั้นสะสมมากขึ้นจนอาจเกิดเป็นเซลมะเร็งขึ้นได้ในวันใดวันหนึ่ง

ความผิดปกติของยีน BRCA1 และยีน BRCA2 นั้นเกิดขึ้นได้มากมายหลายตำแหน่งบนยีนทั้งสองนี้ ซึ่งเป็นยีนที่มีขนาดใหญ่มาก โดยที่ความผิดปกติของยีน BRCA นั้นอาจเป็นได้ทั้งแบบที่เกิดขึ้นเองเฉพาะบุคคลนั้น หรือได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาจากบิดาหรือมารดา บุคคลที่มีความผิดปกติของยีน BRCA นั้นมีความเสี่ยงมากต่อมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ และเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งทั้งสองชนิดนี้ตั้งแต่ในอายุเฉลี่ยที่น้อยกว่าอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยมะเร็งสองชนิดนี้โดยทั่วไปด้วย และความผิดปกติของยีน BRCA ทั้งสองชนิดก็ยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอื่นๆได้อีกหลายโรค นอกจากมะเร็งเต้านมและรังไข่

ในประชากรทั่วไปนั้นโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านมที่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในชีวิตนั้นมีอุบัติการณ์ประมาณ 12% แต่ในกลุ่มผู้ที่มีความผิดปกติของยีน BRCA แบบที่ได้รับถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์นั้นจะมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมถึงประมาณ 70% ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต และเมื่อเกิดขึ้นที่ข้างหนึ่งแล้วก็ยังคงเสี่ยงมากถึง 26-40% ที่จะเกิดมะเร็งเต้านมที่อีกข้างหนึ่งภายใน 20 ปีหลังเกิดมะเร็งเต้านมครั้งแรก ส่วนอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งรังไข่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในชีวิตของประชากรทั่วไปนั้นอยู่ที่ประมาณ 1.3% แต่สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติของยีน BRCA1 แบบกรรมพันธุ์จะมีโอกาสถึง 44% ส่วนผู้ที่มีความผิดปกติของยีน BRCA2 แบบกรรมพันธุ์จะมีโอกาสถึง 17% ที่จะเกิดมะเร็งรังไข่ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต

การตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของยีน BRCA1 และ BRCA2 แบบที่เป็นกรรมพันธุ์นั้นไม่มีข้อห้ามที่ชัดเจนในกลุ่มบุคคลใดๆเลย ยกเว้นในกลุ่มบุคลที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี แต่การสุ่มตรวจในบุคคลปกติทั่วไปนั้นอาจมีโอกาสไม่มากนักที่จะตรวจพบความผิดปกติของยีนทั้งสองนี้ กลุ่มบุคคลมีความเสี่ยงมากที่จะตรวจพบความผิดปกติแบบถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ของยีนทั้งสองชนิดนี้ ได้แก่

  • มีญาติ หรือตนเอง ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 50 ปี
  • มีญาติหรือตนเอง ป่วยเป็นโรคมะเร็งทั้งเต้านมและรังไข่ในบุคคลเดียวกัน
  • มีญาติหรือ ตนเอง ป่วยเป็นโรคมะเร็งทั้งสองชนิดในสายเลือดเดียวกัน *
  • มีญาติ หรือ ตนเอง ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า 1 คน (คือตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป)ในสายเลือดเดียวกัน *
  • มีญาติหรือตนเอง ซึ่งเป็นเพศชายแต่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม
  • มีญาติหรือตนเอง ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง ที่สัมพันธ์กับความผิดปกติของยีน BRCA1 และ BRCA2 มากกว่า 2 คน ได้แก่ โรคมะเร็งที่ท่อนำไข่ มะเร็งที่เยื่อบุช่องท้อง มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน และรวมถึงโรคโลหิตจางแบบ Fanconi

* หมายเหตุ สายเลือดเดียวกัน คือ ญาติฝั่งพ่อ หรือฝั่งแม่ ด้านใดด้านหนึ่ง ยกตัวอย่าง ญาติฝั่งพ่อเป็นมะเร็งเต้านม 2 คน เป็นต้น แต่ถ้าญาติฝั่งพ่อเป็นมะเร็งเต้านม 1 คน ญาติฝั่งแม่เป็นมะเร็งเต้านม 1 คน ในกรณีนี้ ถือว่ามีญาติที่เป็นมะเร็งในสายเลือดเดียวกันเพียง 1 คน ไม่ใช่ 2 คน

ทั้งนี้ การตรวจหาความผิดปกติของยีน BRCA1 และ BRCA2 แบบที่เป็นกรรมพันธุ์นั้น ควรเริ่มที่ตัวผู้ป่วยเป็นมะเร็งก่อน ถ้าผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่และยินยอมให้ตรวจได้ หลังจากนั้นถ้าตรวจพบความผิดปกติของยีน BRCA1 และ BRCA2 แบบที่เป็นกรรมพันธุ์จริง จึงจะตรวจต่อในกลุ่มญาติใกล้ชิดของผู้ป่วย และขยายการตรวจคัดกรองออกไปในกลุ่มบุคคลที่เป็นญาติสายเลือดเดียวกันที่ห่างตัวผู้ป่วยออกไปเรื่อยๆ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่มีชีวิตอยู่แล้วหรือไม่ยินยอมให้ตรวจ กลุ่มบุคคลที่เป็นญาติก็สามารถตรวจความผิดปกติของยีน BRCA1 และ BRCA2 แบบที่เป็นกรรมพันธุ์ได้เอง ดังที่กล่าวแล้วว่า ไม่มีข้อห้ามใดๆชัดเจน ยกเว้นกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 18 ปีที่แม้จะมีลักษณะของญาติใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงมากดังกล่าว เพราะไม่มีวิธีการใดๆเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งและมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดโรคมะเร็งใดๆที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีน BRCA1 และ BRCA2 แบบที่เป็นกรรมพันธุ์ในช่วงอายุนี้

ศูนย์มะเร็งตรงเป้า – โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

โทรศัพท์ : 093-328-5561
หรือ : 02-115-2111 ต่อ 1169, 1170
แผนที่ : Google / รูปแผนที่ / เส้นทางเดินทาง
Facebook : HIFUCHULARAT
Line : hifu9000