ตรวจ ตัดชิ้นเนื้อง่ายๆ ด้วยการใช้ EUS ( Endoscopic ultrasonography)

EUS ( Endoscopic ultrasonography) คือการตรวจส่องกล้องโดยใช้กล้องคลื่นเสียงความถี่สูง ใช้สำหรับแพทย์ระบบทางเดินอาหารในการส่องเพื่อตรวจวินิจฉัยรอยโรคต่างๆในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตับอ่อนและท่อทางเดินน้ำดี

เพราะมีผลศึกษาหลายการศึกษาบ่งชี้ชัดเจนว่า EUS มีประสิทธิภาพดีกว่า MRI หรือ CT scan ในการสืบค้นเพื่อหารอยโรคที่มีขนาดเล็กกว่า 2-3 ซม.ที่บริเวณตับอ่อน นอกจากนั้น EUS ยังสามารถประเมินรอยโรคในบริเวณอื่น เช่น การประเมินระยะมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร การประเมินก้อนที่อยู่ใต้ผนังเยื่อบุทางเดินอาหาร การประเมินรอยโรคในช่องทรวงอก (Mediastinum) การประเมินรอยโรครอบทวารหนัก การประเมินรอยโรคที่ผิดปกติต่างๆที่อยู่นอกทางเดินอาหารที่ตรวจพบจากการตรวจอื่น และกล้อง EUS ยังสามารถใช้ในการทาหัตถการเพื่อการรักษาโรคได้อีกด้วย

การตรวจด้วย EUS ให้ประโยชน์ในมะเร็งต่างๆ เหล่านี้ในลักษณะที่คล้ายกัน คือในกรณีประเมินผู้ป่วยแล้วพบว่ารอยโรคน่าจะผ่าตัดได้ (operable) แต่ยังไม่แน่ใจมากนักเพราะผู้ป่วยอาจมีการลุกลามระยะใกล้ (locoregional invasion) เช่น ลุกลามเข้าหลอดเลือดบริเวณใกล้เคียง หรือมะเร็งมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งอาจทำให้ระยะของโรคเปลี่ยนไปจนผ่าตัดไม่ได้ (inoperable) หรือต้องให้ยาเคมีบำบัด หรือการฉายแสงก่อนการผ่าตัด ทำให้แพทย์สามารถกำหนดระยะของโรค (TNM staging) ได้แม่นยำขึ้น และนำไปสู่การรักษาที่อาจส่งผลให้ระยะเวลาการรอดชีวิตของผู้ป่วย (survival time) นานขึ้น

EUS-FNA (EUS guided fine needle aspiration) คือ การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจและนำชิ้นเนื้อดังกล่าวตรวจหาเซลล์พยาธิวิทยาเพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนโดยใช้เข็มสอดผ่านรูเครื่องมือของกล้อง อัลตร้าซาวด์ไปยังรอยโรคที่ตรวจพบได้ มีความไวในการประเมินโรคประมาณร้อยละ 90