มะเร็งกระเพาะอาหาร การวินิจฉัย ความรุนแรง
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
( แต่การมีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเสมอไป และในทางกลับกัน การที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร )
การวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร ด้วยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Gastroscopy) เพื่อหาและประเมินรอยโรคที่บริเวณหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น เป็นวิธีการตรวจที่นิยมมาก สามารถช่วยวินิจฉัยโรคได้มากกว่า 95% และไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด แต่อาจทำให้รู้สึกพะอืดพะอมได้ และหากตรวจพบสิ่งผิดปกติหรือสิ่งที่น่าสงสัย (ไม่ว่าจะพบรอยโรคอย่างชัดแจ้งหรือไม่) แพทย์จะใช้เข็มสะกิดตัดเอาชิ้นเนื้อบนผิวกระเพาะออกมาตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการด้วย
โดยทั่วไปแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อในระหว่างการส่องกล้องออกมาตรวจดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะของเซลล์มะเร็งและเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารแน่ชัดแล้ว แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ อีก เช่น การตรวจเอกซเรย์ปอด การส่องกล้องตรวจอัลตราซาวนด์ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อประเมินระยะของมะเร็งว่าอยู่ในกระเพาะอาหารหรือได้แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ แล้วหรือไม่ ซึ่งการประเมินระยะของมะเร็งนั้นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากที่ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง
การแยกโรค
ในระยะแรกอาการแสดงของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารจะดูคล้ายโรคกระเพาะและโรคกรดไหลย้อน แต่โรคเหล่านี้เมื่อกินยารักษาอาการก็มักจะทุเลาลงและหายขาดได้ แต่ถ้าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ในช่วงแรกการกินยาจะได้ผลชั่วคราว แต่ต่อมาจะไม่ได้ผล
ส่วนอาการในระยะต่อมา คือ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักตัวลดลง อาจดูคล้ายกับมะเร็งหลอดอาหารและมะเร็งตับได้ แต่จะแตกต่างกันตรงที่ในมะเร็งหลอดอาหารผู้ป่วยจะมีอาการกลืนลำบากเป็นอาการหลัก (กลืนแล้วเจ็บหรือติดที่ตำแหน่งต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับคอจนถึงระดับลิ้นปี่) ส่วนมะเร็งตับจะคลำได้ก้อนแข็งบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา ไม่ใช่ด้านซ้ายเหมือนในมะเร็งกระเพาะอาหาร
ความรุนแรงของมะเร็งกระเพาะอาหาร
ความรุนแรงของโรคนี้จะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ
1. ปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเอง ได้แก่
– อายุ ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยมักจะทนต่อการรักษาได้ดีกว่าผู้ป่วยที่มีอายุมาก จึงมีผลการรักษาที่ดีกว่า
– สุขภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ก็จะสามารถทนต่อการรักษาได้ดีกว่า ผลการรักษาโดยรวมจึงดีกว่าด้วย
– โรคร่วมต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้อาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรักษาและส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษามากขึ้น
2. ปัจจัยจากการรักษา กล่าวคือ ถ้าผู้ป่วยสามารถรับการผ่าตัดได้การรักษามักจะได้ผลดีกว่าผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยอัตราการรอดชีวิตเมื่อสามารถผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหารได้หมดเป็นดังนี้
– ระยะที่ 1 มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 70%
– ระยะที่ 2 มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 30-40%
– ระยะที่ 3 มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 15%
– ระยะที่ 4 เป็นระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 0-5%