มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach cancer หรือ Gastric cancer) คือ เซลล์เนื้อร้ายหรือมะเร็งที่เกิดขึ้นที่บริเวณเยื่อบุผิวภายในกระเพาะอาหาร โดยเกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารมีการแบ่งจำนวนมากขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา สามารถเกิดได้กับทุกส่วนของกระเพาะอาหาร และสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะรอบ ๆ กระเพาะอาหารได้ เช่น ตับอ่อน หลอดอาหาร ลำไส้ ปอด และรังไข่ นอกจากนี้เซลล์มะเร็งยังแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ผ่านทางต่อมน้ำเหลือง หรือทางกระแสเลือดได้ด้วย

ในบ้านเรามักตรวจพบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งชนิดนี้ในระยะสุดท้าย เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการปรากฏชัดเจนซึ่งเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปมากแล้ว จึงยากที่จะเยียวยารักษาได้ ดังนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ (เช่น มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้) ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยก่อนที่จะมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เพราะหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ การรักษาก็มักจะได้ผลดีและช่วยให้หายขาดได้

พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 -3 เท่า และพบได้มากเป็นอันดับที่ 9 ของมะเร็งในผู้ชาย

วิธีการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร

วิธีการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยทีมแพทย์ในสาขาต่าง ๆ หลายสาขามาร่วมกันวางแผนในการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง

โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาของแพทย์จะขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรคและการกระจายของมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

เราจะแบ่งการรักษาออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

1. การรักษาเฉพาะที่

ซึ่งการรักษาเฉพาะที่นั้น เป็นการรักษาเฉพาะตำแหน่งที่มะเร็งเกิด

  1. การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักของการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารที่ใช้บ่อยในทุกระยะของโรค ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี (ขึ้นอยู่กับระยะของโรค สภาพร่างกายของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์) คือ
    • การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน (Subtotal gastrectomy) เป็นการรักษาโดยการผ่าตัดเอาเฉพาะกระเพาะอาหารส่วนที่มีก้อนมะเร็งอยู่ รวมถึงต่อมน้ำเหลือง เนื้อเยื่อ และอวัยวะใกล้เคียงบางส่วน และในบางครั้งอาจต้องตัดม้ามออกไปด้วย (ม้ามเป็นอวัยะที่อยู่ส่วนบนของช่องท้องมีหน้าที่กรองเลือดขับเม็ดเลือดที่เสียออก)
    • การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมด (Total gastrectomy) เป็นการผ่าตัดเอากระเพาะอาหารออกทั้งหมด รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงบางส่วนของหลอดอาหาร ลำไส้เล็ก และเนื้อเยื่อรอบ ๆ ก้อนมะเร็ง และม้ามอาจถูกตัดออกไปด้วย และหลังจากนั้นหลอดอาหารจะถูกต่อเข้ากับลำไส้เล็กโดยตรงเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกินและกลืนอาหารได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่ก้อนมะเร็งอุดกั้นกระเพาะอาหารทั้งหมดและไม่สามารถผ่าตัดโดยวิธีมาตรฐานได้ แพทย์อาจให้การรักษาตามข้อ 3
    • การผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีการอุดกั้นกระเพาะอาหาร เช่น การใส่ขดลวดในท่อทางเดินอาหารเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ (เป็นวิธีการใช้ขดลวดที่มีขนาดบางและสามารถขยายได้ในการช่วยถ่างบริเวณใดก็ตามที่มีลักษณะเป็นท่อกลวงให้เปิด เช่น หลอดอาหาร ซึ่งการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อนมะเร็งด้วย โดยแพทย์อาจใส่ขดลวดเข้าไปบริเวณระหว่างกระเพาะอาหารกับหลอดอาหาร หรือระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็กก็ได้)
  2. รังสีรักษา (Radiation therapy) เป็นการรักษาโดยใช้รังสีเอกซเรย์ที่มีพลังงานสูงหรือรังสีชนิดอื่น ๆ เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งหรือหยุดการเจริญเติบโต ซึ่งจะมีผลจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณที่ได้รับการฉายรังสีเท่านั้น (มักใช้เพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วย เช่น ก้อนมะเร็งไปอุดกั้นที่บริเวณหลอดอาหารหรือลำไส้เล็ก หรือมีโรคแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ เช่น กระดูก สมอง และทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหรือเป็นอัมพาต เป็นต้น หรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด

2. การรักษาทุกส่วนของร่างกาย

ซึ่งการรักษาในทุกส่วนของร่างกายนั้นก็เพื่อกำจัดตัวมะเร็งไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของร่างกาย การรักษาอาจทำได้โดยเคมีบำบัด การใช้ยาที่จำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง และการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด

  1. ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษามะเร็งโดยการใช้ยาเพื่อไปหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าเซลล์มะเร็งโดยตรงหรือเพื่อหยุดการแบ่งตัว มักใช้เพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งก่อนการผ่าตัด หรือเพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วยระยะที่โรคแพร่กระจายแล้ว หรือใช้ร่วมกับรังสีรักษา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะเป็นทางการกินหรือการฉีด ยาจะวิ่งไปถึงเซลล์มะเร็งที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย
  2. การรักษาด้วยยามะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) วิธีการรักษาด้วยยามะเร็งแบบมุ่งเป้า เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งโดยการใช้ยาที่เป็นตัวยาเฉพาะเจาะจงและกำหนดเป้าหมายเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งโดยไม่กระทบกับเซลล์ปกติในร่างกาย ยามุ่งเป้าทำงานโดยการเชื่อมโยงตัวยากับโมเลกุลที่มีอยู่บนผิวเซลล์มะเร็ง โดยการเชื่อมโยงนี้จะช่วยให้ยาสามารถเข้าสู่เซลล์มะเร็งได้ง่ายขึ้นและสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันยาจะไม่กระทบต่อเซลล์ปกติในร่างกายอย่างมากแต่การจะเลือกใช้ยาตัวไหนได้นั้นการตรวจยีน หรือโมเลกุลสารพันธุกรรมมะเร็งนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการช่วยตัดสินใจเลือกใช้ยา เพื่อการตอบสนองต่อโรคที่ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น

    โมเลกุลสารพันธุกรรมมะเร็งชนิด HER2 human epidermal growth factor receptor 2 จะพบอยู่ได้ในเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหารบางชนิด การรักษารูปแบบนี้จะทำลายแค่เซลล์ที่มีตัวรับโปรตีนนี้ซึ่งส่วนใหญ่คือเซลล์มะเร็ง และจะคงไว้ซึ่งเซลล์ที่ปกติ ตัวรับโปรตีนดังกล่าวมีหน้าที่หล่อเลี้ยงให้เซลล์มะเร็งสามารถเจริญเติบโตและมีชีวิตรอด การรักษาด้วยยามะเร็งแบบมุ่งเป้าจะเข้าไปขัดขวางกลไกของตัวรับโปรตีนนี้โดยตรง

    นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยยามะเร็งแบบมุ่งเป้า ชนิดที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกล Vascular endothelial growth factor receptor 2 (VEGFR) โดยยามุ่งเป้าชนิดนี้จะไปทำลายโปรตีน VEGFR ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยให้มะเร็งกระเพาะอาหารมีการแบ่งตัวและเติบโตขึ้น

  3. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดจะช่วยระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยในการต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง เมื่อมีเซลล์มะเร็งปรากฎในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ทำลายเซลล์มะเร็งอาจจะไม่สามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ เพราะเกิดการขัดขวางจากโปรตีนที่ผลิตโดยเซลล์มะเร็ง วิธีการทำงานของภูมิคุ้มกันบำบัดคือจะเข้ามาแทรกระหว่างการทำงานของกระบวนการดังกล่าว โดยกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันกลับมาต่อต้านเซลล์มะเร็ง ปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยับยั้งหรือบล็อกการทำงานของเอนไซม์หรือโปรตีนที่ช่วยให้เซลล์มะเร็งหลีกเลี่ยงการโจมตีจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้นแต่การจะเลือกใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) นั้น
    การตรวจ MSI ถือเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อรักษามะเร็ง การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดในผู้ป่วย MSI-High ให้ผลการรักษาที่ดีกว่าผู้ป่วยที่ไม่มี MSI-High ดังนั้น การตรวจ MSI-High เป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจเลือกใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะต่างๆ

3. การรักษาประคับประคองอาการ

การรักษาประคับประคองอาการ เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาตามอาการในผู้ป่วยที่ร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะให้การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ หรือในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารระยะสุดท้าย เช่น การให้ยาคุมปวด การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ