ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีวิธีการรักษาโรค มะเร็งตับ มากมายหลายวิธีก็ตาม การรักษามะเร็งตับที่หวังผลให้หายขาดที่ดีที่สุดคือ การผ่าตัดตับ (Hepatectomy) แต่มีผู้ป่วยมะเร็งตับเพียง 20% เท่านั้นที่มาพบแพทย์ในระยะที่เหมาะสมกับการผ่าตัด
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดตับ ในผู้ป่วย มะเร็งตับ
ผู้ป่วยมะเร็งตับที่มาด้วยก้อนเดี่ยว ถ้าก้อนขนาดเล็กกว่า 5 เซนติเมตร จะมีโอกาสน้อยที่มีก้อนมะเร็งเล็กๆร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตามขนาดก้อนไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะแม้ว่าผู้ป่วยมะเร็งตับมาด้วยก้อนเดี่ยวที่ขนาดที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร แต่มีการทำงานตับที่ดี และไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัด ก็ยังสามารถรับการผ่าตัดตับได้
ข้อห้ามในการผ่าตัดตับ
ถ้ามีอาการหรือลักษณะมะเร็งตับดังต่อไปนี้ ข้อใดข้อหนึ่ง เป็นข้อห้ามในการผ่าตัด
- มีการกระจายของมะเร็งตับนอกตับ
- มีก้อนมะเร็งหลายก้อน หรือก้อนมะเร็งแทกอยู่กลีบตับสองกลีบ
- มะเร็งแพร่กระจายไปยังท่อน้ำดีหลัก (Main bile duct)
- มะเร็งแพร่กระจายไปยังเส้นเลือดสำคัญ เช่น Main portal vein หรือ Inferior vena cava หรือ Right atrium
- ผู้ป่วยมีภาวะตับแข็ง ที่ประเมินด้วย Child–Pugh score เป็น Child class C
ในการผ่าตัดตับสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะตับแข็งร่วมนั้น สามารถผ่าตัดตับออกได้ถึง 70% ของเนื้อตับ เพราะเนื้อตับที่เหลือ เพียงพอที่จะดูแลร่างกายได้ แต่ผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนใหญ่มักมีภาวะตับแข็งไม่มากก็น้อยร่วมด้วย การประเมินการทำงานของตับก่อน จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อตับที่เหลือจากการผ่าตัดเพียงพอที่จะดูแลร่างกาย
การประเมินการทำงานของตับในผู้ป่วยตับแข็ง ก่อนการผ่าตัดตับ
การประเมินการทำงานของตับในผู้ป่วยตับแข็งก่อนผ่าตัดตับเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อให้แพทย์มีความมั่นใจว่า ปริมาณตับที่เหลือหลังผ่าตัดสามารถทำงานได้เพียงพอ ไม่เกิดภาวะตับวายหลังผ่าตัด (Postoperative liver failure)
แพทย์ใช้การประเมินด้วย Child–Pugh classification ซึ่งการประเมินการทำงานตับด้วยวิธีนี้ จะแบ่งสภาพตับแข็งออกเป็น 3 ประเภท คือ A, B และ C โดยดูพิจารณาจากอาการตรวจพบและผลเลือด
การแบ่งสภาพผู้ป่วยตับแข็ง โดยวิธี Child–Pugh classification
Child–Pugh Score | |||
ปัจจัย | 1 คะแนน | 2 คะแนน | 3 คะแนน |
ระดับบิลิรูบินในเลือด Total bilirubin (mg/dl) | ≤ 2 | 2 – 3 | > 3 |
ระดับอัลบูมินในเลือด Serum albumin (g/dl) | > 3.5 | 2.8 – 3.5 | < 2.8 |
ค่าการแข็งตัวของเลือด INR | < 1.7 | 1.71 – 2.30 | > 2.30 |
ภาวะน้ำในช่องท้อง Ascites | ไม่มี | มีเล็กน้อย | มีปานกลางถึงมาก |
ภาวะทางสมองจากโรคตับ Hepatic encephalopathy | ไม่มี | มี grade 1 – 2 | มี grade 3 – 4 |
Child class | A | B | C |
รวมคะแนน | 5 – 6 | 7 – 9 | 10 – 15 |
โดยมีแนวทางดังนี้
- ผู้ป่วยตับแข็ง ประเภท Child class A ควรเหลือเนื้อตับหลังผ่าตัดอย่างน้อย 40-50%
- ผู้ป่วย ตับแข็งประเภท Child class B ควรเหลือเนื้อตับหลังผ่าตัดอย่างน้อย 70-80%
- ผู้ป่วยตับแข็งประเภท Child class C ไม่สามารถผ่าตัดตับได้
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสภาพตับแข็งจะอยู่ใน Child class ใด ก็ยังมีโอกาสเกิดภาวะตับวายหลังผ่าตัดได้เช่นกัน การพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไป และการดูแลผู้ป่วยใกล้ชิดหลังผ่าตัด โดยศัลยแพทย์และอายุรแพทย์ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
โดย นพ.สถิตวงศ์ ชยางศุ – ศัลยแพทย์ (โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต)
ศูนย์มะเร็งตรงเป้า – โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
โทรศัพท์ : 093-328-5561
หรือ : 02-115-2111 ต่อ 1169, 1170
แผนที่ : Google / รูปแผนที่ / เส้นทางเดินทาง
Facebook : HIFUCHULARAT
Line : hifu9000