ถ้าตัวเราเองได้สังเกตดูหรือคลำเต้านมเป็นประจำอยู่แล้ว เพื่อความปลอดภัย ถ้าเรารับรู้ถึงลักษณะของเต้านมที่ปกติของตัวเองเป็นอย่างดี แล้วมีอยู่วันหนึ่งที่พบลักษณะผิดปกติ (ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยพบ) ได้เร็วก็จะทำให้เราปลอดภัยจากมะเร็งเต้านมได้ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง จึงมีความสำคัญอย่างมาก

การตรวจเต้านมด้วยตนเองมี 2 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ การดูและการคลำ

  1. การดูเต้านม การดูเต้านม มีจุดประสงค์เพื่อสังเกตลักษณะภายนอกของเต้านมที่มองเห็นได้ โดยต้องส่องกระจกในการดูสิ่งผิดปกติต่าง ๆ ของเต้านม ได้แก่
    • หัวนม หัวนมทั้ง 2 ข้าง ควรอยู่ที่ตำแหน่งระดับเดียวกัน มีสีผิวและรูปร่างเหมือนกัน ชี้ออกไปด้านข้างเล็กน้อยเท่านั้น ต้องไม่มีลักษณะที่ถูกดึงรั้งหรือทำให้เอนไปยังข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ควรมีน้ำเหลือง เลือด หรือของเหลวผิดปกติไหลออกมาจากหัวนม รวมถึงไม่ควรมีแผลผิวถลอก หรือแผลจากก้อนนูน
    • ฐานหัวนม ฐานเต้านมควรมีผิวเนียนและสีเสมอกัน ไม่ควรมีรอยนูนหรือก้อนดันผิวออกมา ไม่ควรมีรอยบุ๋มที่เกิดจากก้อนมะเร็งดึงรั้งลงไป รวมถึงแผลผิวถลอกหรือแผลจากก้อนนูน
    • เต้านม เต้านมควรมีผิวเนียนและมีสีผิวเสมอกัน ไม่ควรมีส่วนของผิวที่บวมหนาแล้วมองเห็นรูขุมขนได้ชัดเหมือนผิวเปลือกส้ม ไม่ควรมีรอยนูนหรือรอยบุ๋มผิดปกติ หรือรอยตะปุ่มตะป่ำต่าง ๆ สีผิวของเต้านมไม่ควรเป็นสีแดงคล้ำ และไม่ควรมีรอยแผลแตกทะลุที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมา

    นอกจากนี้ ให้สังเกตระดับและขนาดของเต้านม เต้านมทั้ง 2 ข้างควรมีรูปร่างและขนาดใกล้เคียงกัน และควรอยู่ระนาบเดียวกัน หากพบว่ามีส่วนที่ถูกดึงรั้งขึ้นหรือถ่วงให้หย่อนคล้อยลงมา (โดยเฉพาะถ้าเริ่มเป็นจากเต้านมด้านใดด้านหนึ่ง) ให้ไปพบแพทย์

  2. การคลำเต้านม เป้าหมายของการคลำเต้านม คือ การสังเกตความผิดปกติที่อาจมองไม่เห็นด้วยตา โดยทั่วไปลักษณะของเต้านมที่เหมาะสม จะต้องนุ่ม ๆ หยุ่น ๆ หากบีบจะได้ก้อนเนื้อที่นุ่ม แต่หากพบความผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์
    • คลำพบก้อนผิดปกติ อาจพบได้ทั้งบริเวณเต้านม หัวนม รักแร้ และเหนือไหปลาร้า
      • อาจเป็นไตแข็งหรือเป็นก้อนเรียบ ๆ ก็ได้
      • เมื่อคลำพบหรือลองกดดูเบา ๆ อาจรู้สึกเจ็บ หรือไม่รู้สึกเจ็บก็ได้
      • ก้อนอาจกลิ้งได้ หรือถ้ากลิ้งไม่ได้ อาจมีส่วนที่ยึดหรือรั้งกับเนื้อเยื่อส่วนล่างหรือผิวหนัง
    • คลำพบรอยบุ๋มเหมือนลักยิ้ม ที่อาจเกิดจากก้อนไปดึงรั้งลงมา
    • มีแผลที่เกิดจากการแตกทะลุของก้อน อาจมีหรือไม่มีเลือดและน้ำเหลืองไหลออกมาก็ได้
    • บีบหัวนม แล้วพบน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกมา

ผิดปกติแบบไหน ควรมาพบแพทย์

  • ความผิดปกติ เมื่อสังเกตดูจากภายนอก เมื่อสังเกตเห็นลักษณะเต้านมที่เปลี่ยนไปจากปกติ เช่น บวม นูน หรือมีแผล หรือมีลักษณะใดที่ไม่เหมือนกันทั้งสองข้าง เช่น ขนาด รูปร่าง ตำแหน่งของหัวนม ให้มาพบแพทย์
  • ความผิดปกติ ที่พบจากการคลำเต้านม มีแผลที่ผิดปกติ มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมา หรือคลำพบรอยนูนไม่สม่ำเสมอ รอยบุ๋ม หรือก้อนที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นก้อนลักษณะใดก็ตาม จะแข็งหรือเรียบ จะรู้สึกเจ็บหรือไม่ ให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียดจะดีที่สุด

เพื่อความปลอดภัย อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ถ้าตัวเราเองได้สังเกตดูหรือคลำเต้านมเป็นประจำอยู่แล้ว รับรู้ถึงลักษณะของเต้านมที่ปกติของตัวเองเป็นอย่างดี แล้วมีอยู่วันหนึ่งที่พบลักษณะผิดปกติ (ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยพบ) ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียดได้เลย

 

 

ศูนย์มะเร็งตรงเป้า – โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

บริษัท คอนวีเนียนซ์ ฮอสพิทอล จำกัด
Convenience Hospital Co., Ltd.
90/5 หมู่ 13 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 10540
โทรศัพท์ : 093-328-5561
หรือ : 02-115-2111 ต่อ 1169, 1170
แผนที่ : Google / รูปแผนที่ / เส้นทางเดินทาง
Facebook : HIFUCHULARAT
Line : hifu9000
เว็บไซต์ : รพ.จุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
ไทย | ဗမာစာ