ถือเป็นเรื่อง Talk of the Town ทีเดียวกับ การให้สิทธิอนุญาตการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ในประเทศไทย สถานะทางกฎหมายในขณะที่เขียนบทความมีดังนี้ ในทางกฎหมายกัญชาจัดเป็น สารเสพติดประเภทที่ 5 สถาบันหรือองค์กรทางสาธารณสุขสามารถจัดจ้างบุคคลปลูกกัญชาเพื่อนำมาใช้ในงานวิจัยและรักษา มะเร็ง ได้ มีการออกระเบียบนิรโทษกรรมในเบื้องต้นให้ผู้ป่วยที่ความจำเป็นต้องใช้กัญชาเพื่อการรักษา สามารถครอบครองกัญชาเพื่อใช้รักษาเฉพาะตัวเพียงพอใน 90 วัน ถ้ามีครอบครองมากกว่าปริมาณที่ต้องการในช่วงเวลาดังกล่าว ต้องส่งกัญชาส่วนเกินให้ราชการเพื่อทำลายทิ้ง

ซึ่งหลังจากที่ได้เริ่มปลูกกัญชาตามกฎหมายไปแล้วนั้น อีก 90 วันจากนี้ บุคคลทั่วไปที่ใช้กัญชาเพื่อการรักษา จะต้องไปใช้กัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ส่วนที่ปลูกๆกันเองเนี่ย…ผิดทางกฎหมายนะครับ ส่วนในรายละเอียดต่างๆต้องมาดูระเบียบที่จะออกตามมาเรื่อยๆครับ แต่แน่นอนครับไม่ใช่การปลดล็อคแบบ ใครใคร่ปลูกปลูก ใครใคร่สูบสูบ ใครใคร่ขายขาย ใครใคร่เก็บครอบครองก็ทำได้โดยอิสระ หรือจะไปผสมอาหารขายตามอำเภอใจ ไม่ได้แน่ๆ

กลับมาที่ประเด็นที่ถูกนำมาเป็นหัวเรื่องคือ กัญชารักษามะเร็ง เรามาทำความรู้กันครับ

กัญชา (Cannabis, Marijuana) เป็นพืชเขตร้อน มนุษย์ใช้ยอดอ่อนและใบกัญชาเพื่อการรักษามานับพันปีแล้ว

มะเร็ง

สารในกัญชาที่เชื่อว่าเป็นประโยชน์ในการรักษา เรียกว่า cannabinoids ซึ่งมี หลายชนิด แต่สารที่เชื่อว่าเป็นตัวสำคัญ มี 2 ชนิด คือ

  1. สาร THC (delta-9-tetrahydrocannabinol) ซึ่งสารนี้จะช่วยลดอาการปวดจาก มะเร็ง อาการคลื่นไส้จากการใช้ยาเคมีบำบัด
  2. Cannabidiol (CBD) จะช่วยลดอาการลมชัก ความเครียด อาการหวาดระแวง

ก่อนจะไปถึงผลการทดลองต่างๆ ผมขออธิบายประเด็นสำคัญมากๆ ให้ทุกท่านเข้าใจก่อน คือ “ในการทดลองศึกษาต่างๆที่ออกมาเกือบทั้งหมดนั้น สารสกัด หรือสังเคราะห์จากกัญชาที่ใช้ คือสาร delta-9-THC” ขอให้ทุกท่านจำประเด็นนี้ให้ขึ้นใจ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ การบริหารกัญชาในปัจจุบันมีดังนี้ครับ

  1. การบริหารกัญชาโดยการกิน จะเป็นใบสด ใบแห้ง หรือต้มน้ำ การบริหารวิธีนี้ พบว่า สาร delta-9-THC จากกัญชาจะถูกดูดซึมต่ำ (6-20%) ระดับสารในเลือดจะสูงราวๆ 1-6 ชม.หลังกิน และคงอยู่ในร่างกายนาน เพราะค่าครึ่งชีวิตประมาณ 20-30 ชม.แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ สาร delta-9-THC ที่รับจากการกิน จะถูกตับแปลงสภาพ(Metabolite) เป็นสารอีกชนิดคือ 11-OH-THC ซึ่งมีฤทธิ์ต่อสมอง ทำให้อารมณ์และการรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงเช่นกันคราวนี้หลายท่านอาจสงสัย แล้วไงล่ะ? มันก็ THC เหมือนๆกันนั่นแหละ ต่างแค่อะไรไม่รู้ที่หมอเขียนด้านหน้าน่ะ ที่มันสำคัญคือในการทำการศึกษาวิจัยยาต่างๆ ผู้วิจัยต้องรู้ว่าตัวเองกำลังศึกษาสารเคมีใดปริมาณเท่าใดครับดังนั้นการกินกัญชาที่ไม่สามารถคาดคะเนระดับสาร delta-9-THC ได้ และยังเกิดสารตัวที่สองอีก ย่อมทำให้ผลการวิจัยไม่สามารถสรุปผลได้เหมาะสม มีการวิจัยเพียงหนึ่งงานที่ทดลองการกินชากัญชา ในช่วงได้รับยาเคมีบำบัด พบว่าไม่เกิดประโยชน์ในทางคลินิก
  2. การบริหารกัญชาด้วยการสูบ วิธีนี้จะทำให้ร่างกายได้รับสาร delta-9-THC ที่รวดเร็วกว่า ระดับยาในเลือดสูงขึ้นไว (2-10นาที) และลดลงจากร่างกายรวดเร็วกว่า (ประมาณ 30นาที) และที่สำคัญร่างกายจะแปลงเป็นสาร 11-OH-THC ในระดับต่ำดังนั้นงานวิจัยศึกษาที่ใช้กัญชาสดหรือแห้ง จะใช้วิธีบริหารโดยการสูบกัญชาเป็นหลัก
  3. การบริหารกัญชาสกัด การสกัดสมุนไพรสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นกับสารที่ใช้สกัด เช่นน้ำเปล่า แอลกอฮอล์ น้ำมัน เป็นต้น แต่ที่นิยมทำกันคือสกัดกัญชาด้วยน้ำมัน เป็นน้ำมันกัญชา ซึ่งการสกัดแบบนี้สารสกัดจะมีสารสำคัญ ทั้ง 2 ชนิดคือ delta-9-THC และ Cannabidiol (CBD) ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ขึ้นกับสายพันธุ์กัญชา สารสกัด และวิธีสกัดสารสกัดจากใบกัญชาที่ได้มาตรฐานในท้องตลาด คือ Nabiximols (Sativex) มีสัดส่วน THC:CBD ที่ 1:1 มีใช้ที่ประเทศแคนาดา นิวซีแลนด์และบางประเทศในยุโรป กล่าวว่าสามารถลดอาการปวดจากมะเร็งและโรค Multiple sclerosis ได้สารสกัด Nabiximols นี้ บริหารโดยการพ่นเข้าปากครับ เพราะอะไร? เพราะสารเคมีที่ดูดซึมจากเยื่อบุในช่องปากจะเข้าสู่กระแสเลือดได้รวดเร็ว และไปทำงานตามหน้าที่ ก่อนที่จะหลุดลอยไปที่ตับทำให้เกิดการแปลงสภาพสารนั่นเองส่วนน้ำมันกัญชาสกัดนั้น ยังไม่มีงานศึกษาวิจัยใดที่ออกมารับรองผลการรักษาในแง่ใดๆทั้งสิ้นนอกจากนั้นยังมีหนึ่งเรื่องที่ผู้ใช้สารสกัดกัญชา และแพทย์ที่มีคนไข้แอบใช้เอง “ต้องรู้” นั่นคือ สาร Cannabidiol เป็นตัวยับยั้งการทำงาน เอ็นไซม์ cytochrome P450 ที่แรงมาก ดังนั้นถ้าผู้ใช้กัญชาสกัดกินยาแผนปัจจุบันที่มีการแปลงสภาพ (metabolite) ยาด้วย cytochrome P450 ที่ตับ จะส่งผลให้การแปลงสภาพยาลดลง ซึ่งมีผลทั้งในแง่ยานั้นๆอาจมีฤทธิ์มากขึ้นจนเกินขนาดหรือลดฤทธิ์ลงได้
  4. การบริหารสารสกัดจากกัญชาแบบเข้มข้น คือ สาร delta-9-THC ซึ่งวิธีนี้คือวิธีที่ใช้ในการทดลองทางห้องปฏิบัติการ ในสัตว์ และในมนุษย์ยาที่ผลิตออกมามี 2 ชนิดในอเมริกาคือ Dronabinol (Marinol) และ Nabilone (Cesamet) ซึ่งข้อบ่งชี้ในการใช้คือลดอาการคลื่นไส้จากการใช้ยาเคมีบำบัด และเพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็งเอาละครับมาถึงอีกประเด็นที่คลุมเครือกันมาก “กัญชารักษามะเร็งจริงหรือ” ผมจะขอเรียบเรียงทีละขั้น ในลำดับแรกต้องแยกเป็น 2 คำถามครับคือ “การสูบกัญชารักษามะเร็งได้หรือไม่” และ “สาร delta-9-THC หรือ Cannabidiol จากกัญชารักษามะเร็งได้หรือไม่”

คำถามแรก การสูบกัญชารักษามะเร็งได้หรือไม่ ?

จะเห็นว่าผมข้าม การกินกัญชา การใช้น้ำมันสกัดกัญชา สารสกัดกัญชา ไปเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีข้อมูลทางศึกษาที่สนับสนุน และการศึกษาหลังๆจะใช้วิธีสูบ ตามเหตุผลที่กล่าวมา

การสูบกัญชากับการรักษามะเร็งนั้น ยังไม่มีการศึกษาครับ เท่าที่มีคือ การสูบกัญชาอาจช่วยลดอาการปวด (neuropathic pain) จากมะเร็งโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้ยาเคมีบำบัดบางกลุ่ม (platinum-based chemotherapy และ taxanes) ได้

แต่ไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่า การสูบกัญชาช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด หรือเพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็ง

ในเรื่องการลดความเครียด หรือการควบคุมอารมณ์นั้น การสูบกัญชามักทำให้อารมณ์ถูกกระตุ้นมากกว่า จะทำให้สงบ

คำถามที่สอง สาร delta-9-THC หรือ Cannabidiol จากกัญชารักษามะเร็งได้หรือไม่?

การศึกษาเกือบทั้งหมดยังอยู่ในระดับห้องทดลองและสัตว์ โดยภาพรวมออกมาในเชิงบวกคือ สารทั้งสองชนิดสามารถทำลายเซลล์มะเร็งหลายชนิดในห้องปฏิบัติการได้ โดยไม่กระทบต่อเซลล์ปกติ

ในการทดลองในสัตว์ พบว่า สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ลดการแพร่กระจาย รวมทั้งลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งตับในหนู และอาจลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในหนู รวมทั้งอาจใช้ในการรักษามะเร็งชนิดดังกล่าวได้ ซึ่งข้อมูลศึกษาวิจัยด้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ระดับสัตว์ทดลองยังต้องพัฒนาต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม มีหนึ่งการศึกษาที่เกิดผลตรงกันข้ามคือ ผู้วิจัยฝังเซลล์มะเร็งในหนูชนิดไม่มีภูมิต้านทาน (immunodeficient mice) พบว่าหนูที่ได้รับสาร THC จะลดขนาดมะเร็งได้ถึง60% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช้ แต่เมื่อทดลองในหนูที่มีภูมิต้านทานปกติ (immunocompetent murine) กลับเกิดผลตรงกันข้ามคือ ก้อนมะเร็งกลับมีขนาดโตขึ้น

มีหนึ่งการศึกษา ที่ทดลองใช้ delta-9-THC ฉีดเข้ากล้าม ในผู้ป่วยมะเร็งกลับซ้ำชนิด glioblastoma multiforme พบว่าไม่เกิดประโยชน์ทางคลินิก

ในด้านการศึกษาแง่อื่นๆ พบว่าสาร delta-9-THC ให้ผลการรักษาที่ดีเช่น ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งอาจเป็นการเสริมฤทธิ์ยาแก้อาเจียนที่ใช้อยู่ได้ ในด้านการเพิ่มความอยากอาหารได้ พบว่าได้ผลดี แต่ยังได้ผลต่ำกว่ายา megestrol ที่แพทย์ด้านมะเร็งให้แก่ผู้ป่วยในปัจจุบัน

นอกจากนั้นยังลดอาการปวดจากมะเร็งทำให้สามารถลดขนาดยาแก้ปวดกลุ่มฝิ่นลงได้ รวมทั้งลดความเครียดวิตกกังวลใจ และช่วยให้นอนหลับดีขึ้น

ผลข้างเคียงของกัญชาและสารสกัดกัญชา?

ในส่วนผลข้างเคียงของกัญชานั้น ที่พบบ่อยคือใจสั่น ความดันเลือดตก เวียนศีรษะ ตาแดง กล้ามเนื้อล้า อารมณ์เปลี่ยนแปลง รวมทั้งในทางกลับกันผู้รับกัญชาบางรายกลับมีอาการซึมเศร้า หวาดระแวง หรือประสาทหลอนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแพทย์ต้องระวังอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็ง

จะมีอาการซึมเศร้าท้อแท้อยู่แล้ว แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้ผลดีในการลดความเครียด อาการซึมเศร้า แต่ถ้าผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงที่ตรงกันข้ามคือ ยิ่งซึมเศร้ามากกว่าเดิม หรือมีประสาทหลอน อาจนำไปสู่เหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ของแพทย์ผู้รักษาและญาติๆได้

ข้อดีหนึ่งของกัญชา เมื่อเทียบกับยากลุ่มฝิ่นที่แพทย์ใช้กันในปัจจุบัน คือ กัญชาไม่กดระบบการหายใจ เพราะหน่วยรับ(receptor)ของกัญชาในสมอง ไม่มีที่บริเวณก้านสมองเหมือนยากลุ่มฝิ่น ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการสารประกอบฝิ่นเกินขนาด อาจกดการหายใจของผู้ป่วยจนเสียชีวิตได้

นอกจากนั้นอาการถอนพิษกัญชา (withdrawal syndrome) นั้น มีเพียงกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ร้อนวูบวาบตามตัว ไม่ค่อยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งรุนแรงน้อยกว่าสารเสพติดประเภทฝิ่น เฮโรอิน หรือยานอนหลับกลุ่ม Benzodiazepines และอาการดังกล่าวจะหายภายในไม่กี่วัน

ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากสารออกฤทธิ์จากกัญชาจะสะสมในไขมันในร่างกาย และขับออกมาช้าๆ เมื่อผู้เสพกัญชาหยุดเสพทันที ร่างกายจะยังมีการขับสารดังกล่าวออกมาจากไขมันในร่างกายสักระยะ ส่งผลให้ระดับสารกัญชาในเลือดไม่ลดลงทันที ทำให้อาการถอนพิษไม่รุนแรง และเลิกกัญชาได้ง่ายกว่าสารเสพติดประเภทอื่น

สุดท้ายนี้ผมใคร่ฝากข้อคิดแก่ทุกๆท่านที่มีความเพียรอ่านจนถึงบรรทัดสุดท้าย ในการรักษาโรคนั้น ไม่มียาใด ให้ผลได้ดีเลิศ ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย การทำความรู้ความเข้าใจโดยปราศจากนำอารมณ์หรืออคติมานำทาง จะทำให้เราสามารถใช้ยาหรือสมุนไพรนั้นได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด

นพ.กิตติไกร ไกรแก้ว
ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งตรงเป้า
รพ.จุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

อ้างอิง
1. www.cancer.org
2. www.ncbi.nlm.nih.gov

มะเร็ง

 

ศูนย์มะเร็งตรงเป้า – โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

โทรศัพท์ : 093-328-5561
หรือ : 02-115-2111 ต่อ 1169, 1170
แผนที่ : Google / รูปแผนที่ / เส้นทางเดินทาง
Facebook : HIFUCHULARAT
Line : hifu9000